ปธ.สภาฯนสพ.ยัน"ผู้จัดการฯ"ผิดจริงไม่ปกป้อง ถกปมคำสั่งคสช.29 ก.ค.นี้
"จักร์กฤษ เพิ่มพูล"ปธ.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊คแสดงจุดยืนต่อกรณี คสช.ออกคำสั่งเตือน "ผู้จัดการสุดสัปดาห์" นัดประชุมคกก.วันที่ 29 ก.ค.นี้ ยันทำหน้าที่สุจริต หากผิดจริงไม่ปกป้องกันเองเด็ดขาด
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 108 /2557 ตักเตือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับ 253 วันที่ 26 กรกฎาคม-1 สิงหาคม ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาไม่สุจริต และให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นที่เป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทราบโดยเร็ว นั้น
(อ่านประกอบ : คสช.ออกคำสั่ง ฉ.108 เตือน"ผู้จัดการสุดสัปดาห์"ตีพิมพ์ข้อมูลอันเป็นเท็จ)
ล่าสุด นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงจุดยืนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติต่อกรณีนี้ว่า
"..กรณีคำสั่ง ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม คล้ายกับว่า คสช.จะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๕๑ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม – ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ถูกระบุว่าตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นข้อความในประกาศฉบับที่ ๑๐๓ ที่ปรับมาจากข้อความเดิม ในประกาศฉบับที่ ๙๗ ที่ว่าห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฎิบัติงานของ คสช.เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน ก็มีคำสั่งในทำนองว่าให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว
คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ มีข้อพิจารณารวม ๒ ประการ ประการหนึ่งคือตักเตือนผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฎิบัติตามประกาศ คสช. หากฝ่าฝืนอีก ก็จะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ ๑๗ ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๒ คือเตือนก่อนใช้อำนาจเด็ดขาด อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหายังสามารถไปพิสูจน์เจตนาในกระบวนการพิจารณาทางศาล ซึ่งแตกต่างจากประกาศ คสช.ฉบับที่ ๙๗ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสั่งปิดได้ทันที
ประการหนึ่งคือคำสั่งให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์เป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนจริยธรรม และรายงานผลโดยเร็ว
ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกันเองในด้านจริยธรรม ในกรณีเช่นนี้ ฐานะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือ ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียน ฐานะของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์คือผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งกระบวนการในการสอบข้อเท็จจริง ต้องเป็นไปตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นั่นคือ การแจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องเรียนละเมิดจริยธรรมในเรื่องใด เพื่อให้คณะกรรรมการได้ดำเนินการสอบสวนตามประเด็นหรือข้อความที่เป็นการละเมิดจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในประกาศฉบับที่ ๑๐๓ ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะได้พิจารณาคำสั่งนี้อย่างละเอียด รอบคอบอีกครั้งในการประชุมวันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคมนี้ แต่ในฐานะส่วนตัวผมยืนยันตามที่ได้ให้คำมั่นกับปลัดกระทรวงกลาโหมในฐานะตัวแทน คสช.ว่า เราจะทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา และจะไม่ปกป้องกันเองอย่างเด็ดขาด หากปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ กระทำละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพข้อใด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะดำเนินการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะแจ้งผลการพิจารณาให้กับผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว.."
หมายเหตุ :ภาพประกอบจาก springnewstv.tv