"นครปัตตานี" กับ "ปัตตานีมหานคร" และทิศทางของ "ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ"
นอกจากแนวทาง “ดับไฟใต้” ตามยุทธศาสตร์คู่ขนานคือ “ความมั่นคง” ควบคู่ “งานพัฒนา” ซึ่งทำกันมาหลายปี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แล้ว ในช่วง 1-2 ปีมานี้ยังเกิดกระแส “กระจายอำนาจ” ซึ่งพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและภาคประชาสังคมด้วย
แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ก็ยังกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยเฉพาะการให้ยุบเลิก “การปกครองส่วนภูมิภาค” แล้วสนับสนุน “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงแทน
สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 ที่ว่า “รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้งหมดนี้ได้นำมาสู่การสร้างกระแสรณรงค์ “จังหวัดจัดการตนเอง” และโมเดลองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่แบบพิเศษ เช่น เชียงใหม่มหานคร มหานครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งเป็นกระแสที่คึกคักจริงจังอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
กระแสที่ว่านี้ลามไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการเสนอ 2 โมเดลหลักๆ คือ
1.นครปัตตานี เป็นโมเดลของพรรคเพื่อไทย และทางพรรคใช้เป็นนโยบายหาเสียงหลักในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา
2.ปัตตานีมหานคร เสนอโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่หลายสิบองค์กร
ในส่วนของ “นครปัตตานี” พรรคเพื่อไทยยกร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว ชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี ความยาว 121 มาตรา เพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษชื่อว่า "นครปัตตานี" ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี "ผู้ว่าราชการนครปัตตานี" มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมี "สภานครปัตตานี" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้ว่าราชการนครปัตตานี
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ให้ยกเลิก ศอ.บต.และ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (ผลักดันโดยพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว) โดยให้ "นครปัตตานี" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.นราธิวาส ยะลา และ จ.ปัตตานีอย่างบูรณาการแทน โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและอัตรากำลังของ ศอ.บต.มาเป็นของนครปัตตานี
แต่ไม่แตะโครงสร้างกำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ส่วนโมเดล “ปัตตานีมหานคร” แม้จะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษขนาดใหญ่คล้ายๆ “นครปัตตานี” แต่มีประเด็นต่างกันในรายละเอียดพอสมควร ได้แก่
- พื้นที่ของปัตตานีมหานคร ครอบคลุม จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
- ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด มีวาระ 4 ปี มีรองผู้ว่าฯ เป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- สภาปัตตานีมหานคร มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คนและผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ
งานพัฒนาพื้นที่ขับเคลื่อนโดย “ผู้อำนวยการเขต” ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ โดยมี “สภาเขต” มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อยเขตละ 7 คน คอยจัดทำแผนพัฒนาและจัดสรรงบประมาณ
นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างของ “สภาประชาชน” ลักษณะคล้ายสภาวิชาชีพที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ แต่เลือกตัวแทนกลุ่มวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการทำงานของปัตตานีนคร มี “คณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม” คอยให้คำปรึกษาและวินิจฉัยประเด็นทางศาสนาอิสลาม และ “คณะผู้แทนส่วนกลาง” ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างปัตตานีมหานครกับรัฐบาลกลาง
แม้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยซึ่งชูนโยบาย “กระจายอำนาจ” โดยใช้โมเดล “นครปัตตานี” จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูธง “ไม่เอานครปัตตานี” และ “ไม่ยุบ ศอ.บต.” ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ากระแส “กลัวการกระจายอำนาจ” ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะพื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ความไม่สงบอยู่
ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากเดินหน้า “นครปัตตานี” หรือโมเดลการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษโมเดลอื่น จะกลายเป็นการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” และอาจส่งผลให้เกิดการ “แบ่งแยกดินแดน” ได้ในท้ายที่สุด
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น กระแสการกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังเป็น “ทิศทางของโลก” ซึ่งไม่อาจขวางกั้นได้อีกต่อไป และพรรคเพื่อไทยก็กำลังฉวยกระแสนี้สร้าง “โจทย์ใหม่” ขึ้นในพื้นที่ ด้านหนึ่งก็เพื่อเปิดทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการ “ให้ยาที่ถูกกับโรค” ก็เป็นได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อสถาปนา “อำนาจใหม่” ขึ้นมาเพื่อผลทางการเมือง คล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าพรรคการเมืองใดที่คุม กทม. พรรคนั้นก็สามารถชิงความได้เปรียบและมีโอกาสได้ ส.ส.กรุงเทพฯมากกว่าพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งทั่วไป
นี่คือทิศทางของ “ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ซึ่งกำลังกลายเป็นทิศทางที่มิอาจหลีกเลี่ยงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.muslimthai.com