สหภาพทีโอที ร้อง "ประยุทธ์ -ไอซีที-คลัง" ทวงเงิน 9 หมื่นล. "เอไอเอส"
เปิดหนังสือสหภาพฯ ทีโอที ร้อง "ประยุทธ์-ปลัดไอซีที-ปลัด ก.คลัง" ทวงคืน 9 หมื่นล้าน เอไอเอส หลังเสียประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจากสหหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน ) หรือ สรท.ว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สหภาพฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนระบุเลขที่ สรท 57 / ป 0100 ต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ , หนังสือร้องเรียน ที่ สรท 57 / ป 0101 ต่อปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และยื่นหนังสือร้องเรียน สรท 57 / ป 0102 ต่อปลัดกระทรวงการคลัง เรื่องการแก้ไขสัญญาอนุญาตร่วมการงาน ที่ไม่ได้ดำเนินให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหนังสือร้องเรียนทั้ง 3 ฉบับ มีใจความสำคัญในภาพรวมระบุตรงกัน คือ ขอให้ผู้รับเรื่องร้องเรียน โปรดพิจารณาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จากความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( Cellular Mobile Telephone ) กับบริษัท AIS ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 7 ใจความโดยสรุป คือขอให้ยกเลิกการแก้ไขสัญญาอนุญาต ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาแล้วว่า การแก้ไขสัญญาอนุญาตฯ ครั้งที่ 6 และ 7 ดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ปตามคำร้อง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นแล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาตฯ ของทีโอที ในครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 6 เป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และขอให้เรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาอนุญาต ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 จากบริษัท AIS คืนให้แก่รัฐ โดยมีข้อมูลอ้างอิงความเสียหายจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งสิ้นกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( Cellular Mobile Telephone ) กับบริษัท AIS ในครั้งที่ 6 ระยะเวลาปี 2544 ถึง 2549 มีมูลค่าความเสียหาย 14,213,750,000 บาท, และการแก้ไข ระยะเวลาเดือนตุลาคม 2549 ถึง กันยายน 2559 มีมูลค่าความเสียหาย ประมาณการ 56,658280,000 บาท
ขณะที่การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( Cellular Mobile Telephone ) กับบริษัท AIS ในครั้งที่ 7 หนังสือร้องเรียนระบุว่า ทศท. จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจนสิ้นอายุสัมปทาน ประมาณการมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 18,175,359,401 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 89,047,389,401 บาท
หนังสือร้องเรียนระบุที่มาของสัญญาอนุญาตดังกล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจาก บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ( ทศท. ) ขณะนั้น ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone ) กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ( บริษัท AIS ) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2533 เพื่ออนุญาตให้บริษัท AIS ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT 900 และรับบ GSM ทั่วประเทศ มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 และต่อมามีการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดังกล่าว รวม 7 ครั้ง โดยข้อตกลงต่อท้ายสัญญา ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 7 ได้ดำเนินการหลังจากที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แต่ไม่ได้ดำเนินให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ
"สาเหตุที่สหภาพฯ ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อ หัวหน้า คสช.ปลัดกระทรวงไอซีที รวมถึงปลัดกระทรวงการคลัง เนื่องจากต้องการให้ผู้มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้มูลค่าความเสียหายที่ทีโอทีได้รับจากการแก้ไขสัญญาฯ ดังกล่าวเป็นมูล ค่าเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ตกเป็นเงินของแผ่นดิน" ตัวแทนสหภาพทีโอทีระบุ