พาสปอร์ตความดี ที่อยากเห็น ?
อธิการบดี ม.ขอนแก่น หนุน พาสปอร์ตความดี แต่กระบวนการคัดเลือกต้องเป็นไปตามของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้านอธิการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ แนะ หากจะทำให้ประสบความสำเร็จต้องค่อยๆทำไปทีละขั้นตอน
กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ขอให้ทุกหน่วยงานนำค่านิยมหลัก 12 ประการ ไปบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนการสอน หลักสูตร การวัดและประเมินผล และในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ได้แก่ ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ การมีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง นั้น
ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มี ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ก็รับลูกทันที โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดทำสมุดบันทึกความดีของนักเรียนทุกระดับ ทุกประเภท ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เรียน กศน. เพื่อต้องการให้จดบันทึกความดีที่นักเรียนได้กระทำ และขอให้ทุกหน่วยงานจัดระบบของตัวเอง และมีการรับรองจากครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย
ที่สำคัญ ยังได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาใช้ความดีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการรับเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ. จะได้นำไปหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ 2 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน เพื่อให้เห็นมุมองต่อเรื่องนี้...
ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
"นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะนำพาสปอร์ตความดีมาใช้เป็นเกณฑ์ในการรับนักศึกษามหาวิทยาลัยครั้งนี้ เห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ส่วนหนึ่งในการรับนักศึกษา เนื่องจากเห็นว่า การมีบันทึกความดีนั้นจะเป็นแรงจูงใจที่จะให้นักศึกษาทำความดี เป็นคนดีต่อสังคม
ทั้งนี้ในอดีตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยทำมาก่อนแล้วที่เรียกว่า “นครปฐมโมเดล”และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้พาสปอร์ตความดีให้ประสบความสำเร็จนั้นคงต้องทำไปทีละขั้นตอน และหากมีข้อที่ผิดพลาดก็ต้องร่วมกันแก้ไขและเพื่อให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี
ในขณะที่การทำพาสปอร์ตเป็นการทำให้เห็นว่า นักศึกษาไม่ได้เรียนหนังสือเพียงส่วนเดียว แต่ว่าได้มีจิตมุ่งที่จะทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพียงแต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว นี่ก็คือลักษณะของพลเมืองที่ดีในอนาคตข้างหน้า”
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
" มหาวิทยาลัยเคยดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว แต่ประสบปัญหากระบวนการการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมจึงเป็นสาเหตุทำให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ยกเลิกโครงการนี้ไป
หากทางกระทรวงศึกษาธิการจะนำมาใช้ทางมหาวิทยาลัยก็เห็นด้วย แต่กระบวนการคัดเลือกนั้นต้องเป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดขึ้น เพื่อป้องกันความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมกับ
ส่วนตัวคิดว่าหลายมหาวิทยาลัยก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะไม่สามารถวัดได้ว่า จะเป็นเกณฑ์ในการคัดที่ดีและไม่ใช่วิธีการที่จะได้เด็กที่เป็นคนดีอย่างแท้จริง ฉะนั้น ผมว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีแต่กระบวนการมหาวิทยาลัยจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าโครงการดังกล่าวจะคัดเลือกโปร่งใสและยุติธรรมกับเด็กทุกคน ท้ายที่สุดถ้ามหาวิทยาลัยเป็นคนคัดเลือกเองจะมั่นใจได้ว่าเราจะดำเนินด้วยความโปร่งใส”