มหาดไทยค้านคสช.แก้ป.วิอาญา 145/1 ยันทำลายถ่วงดุลตร.-อัยการ
มหาดไทยค้าน คสช.ประกาศแก้ ป.วิอาญา 145/1 “วิษณุ”ยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อย่าเพิ่งรีบแก้ไขเปลี่ยนแปลง เผยในที่ประชุมอัยการ-มท.ค้านแล้ว แต่ยังออกประกาศอีก ชี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ทำลายการถ่วงดุลระหว่างตร.-อัยการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 145/1 ว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการประชุมหารือในวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เป็นประธานในการประชุมหารือ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความทางอาญา (ป.วิอาญา) โดยการประชุมครั้งนั้น มีคณะกรรรมการพิจารณา 3 ฝ่าย ได้แก่ ตำรวจ สำนักอัยการ และกระทรวงมหาดไทย
แหล่งข่าว กล่าวว่า วันดังกล่าว นายวิษณุได้กล่าวในที่ประชุมว่า การแก้ไขกฎหมายวิธีพิจาณาคดีความอาญาที่เกี่ยวเนื่องและกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เน้นให้ผู้ว่าราชการภูธรภาครับผิดชอบสูงสุดในการดูแลความสงบเรียบร้อย และความเป็นธรรมของประชาชน ไม่ควรรีบด่วนไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง ควรพิจารณาโดยรอบคอบ หากมีจุดบกพร่องในการบริหารราชการภายในของตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรแก้ไขด้วยหนังสือสั่งการ หรือข้อตกลงร่วมกัน ไม่ควรจะแก้ไขกฎหมาย
“ภายหลังการประชุมดังกล่าว เมื่อเวลา 21.00 น. วันเดียวกัน ก็ได้ทราบว่าหัวหน้า คสช. มีการลงนามในการประกาศแก้ไขเพิ่ม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 เรียบร้อยแล้ว แม้ในการประชุมจะมีการคัดค้านจากตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วม ทั้งมหาดไทยและอัยการ ซึ่งต่างเห็นว่าจะต้องมีการถ่วงดุล จึงค่อนข้างแปลก และขัดกับหลักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการปกครอง หลักการบริหารราชการแผ่นดิน และกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ประกาศฉบับนี้ ให้อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการยื่นฟ้อง หรือไม่ยื่นฟ้องคดีทางอาญา ทั้งที่แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ในเรื่องการรักษาความสงบ รวมไปถึงการดูแลเรื่องความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมา อำนาจของผู้ว่าฯจึงถูกลดลงไป และให้อำนาจนั้นแก่ผู้บัญชการตำรวจภูธรภาค ประการสำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีความทางอาญา ทั้งในอำนาจการสั่งฟ้อง และการสืบสวน ของทั้งตำรวจและอัยการ
“ในแง่ของการถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีความทางอาญานั้น เมื่ออัยการหรือตำรวจ มีการค้านในสำนวนคดีความเดียวกัน ผู้ว่าฯก็จะสามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางในเรื่องการค้าน หรือไม่ค้านสำนวนฟ้องได้ แต่เมื่อไม่มีผู้ว่าฯ ความสมดุลของ 3 องค์กรก็จะหมดไป เป็นการรวบอำนาจไปอยู่ที่ตำรวจ เมื่อมีความเห็นชอบให้ส่งสำนวนฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ก็ถือว่าสิ้นสุดในกระบวนการยื่นฟ้อง ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาทนายความเพื่อมาฟ้องร้องคดีความได้ จากเดิมที่มีออัยการเป็นทนายความแผ่นดินว่าความให้ ที่สำคัญในการประชุมหารือ สำนักอัยการ และมหาดไทย ก็ไม่เห็นชอบกับการแก้กฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง” แหล่งข่าว กล่าว
อ่านประกอบ : คสช.แก้กม.วิ อาญาคดีตจว.เห็นแย้งอัยการให้ ผบช.ชี้ขาดแทนผู้ว่าฯ