‘ดร.สมเกียรติ’ จี้สภาปฏิรูป-รัฐบาลใหม่ยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ
นักศึกษา มธ.คว้าชัย ‘ทีดีอาร์ไอจูเนียร์’ ถกประเด็นตอบโจทย์เศรษฐศาสตร์ ลงลึกสู่ระดับปฏิบัติ ‘ดร.สมเกียรติ’ ชี้ คสช.แก้เศรษฐกิจระยะสั้นไม่ยั่งยืน แนะรัฐบาล-สภาปฏิรูป เร่งยกเครื่องโครงสร้าง สร้างมีส่วนร่วม ป้องกันล้มกติกาภายหลัง
วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดโครงการ ‘Redesigning Thailand เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย 2020’ เพื่อค้นหานิสิตนักศึกษาแต่งตั้งเป็น TDRI Junior Policy Researcher และได้รับสิทธิฝึกงานและพิจารณาเข้าทำงานระบบ Fast Track กับทีดีอาร์ไอหลังสำเร็จการศึกษา ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ทั้งนี้ มีผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ (ประลองโจทย์รอบตัดสิน) ทั้งหมด 8 ทีม เพื่อนำเสนอประเด็นตามโจทย์ที่ได้รับทีมละ 7 นาทีต่อหน้าคณะกรรมการ 4 ท่าน ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา, ดร.สมชัย จิตสุชน และดร.สุเมธ องกิตติกุล โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 ชั่วโมง
ท้ายที่สุด ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.ฐิติพร ศิริคุรุรัตน์ น.ส.พีชนา เลิศฤทธิเดชา ม.ธรรมศาสตร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายนาอีม แลนิ ม.ธรรมศาตร์ นายพลพัต อมรรัตนเกศ ม.เกษตรศาสตร์ นายศิวัช บุญกาญจน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (2 รางวัล) ได้แก่ นายณัฐพงศ์ นาคแก้ว นายนรภัทร สีสุก นายสุทธิรักษ์ สันง๊ะ ม.ธรรมศาสตร์ และน.ส.มัญชุพร เตชะชัยอนันต์ น.ส.นิจชญา มีประเสริฐสกุล นายวศิน วชิรดิลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวภายหลังถึงความเป็นมาของโครงการว่า เกิดจากกระแสความตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความพยายามตั้งสภาปฏิรูปขึ้น แต่ความจริงแล้วการปฏิรูปจะประสบความสำเร็จต้องเกิดขึ้นจากระดับพื้นฐาน
“ทีดีอาร์ไอจึงเชิญชวนนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขาวิชา มาช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่การปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต ความเสมอภาค รักษาสิ่งแวดล้อม และมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนไปได้ในอนาคตต้องทำอย่างไร”
สำหรับข้อเสนอการปฏิรูปประเทศนั้น ดร.สมเกียรติ มองว่า นิสิตนักศึกษาที่เข้ามาแข่งขันได้นำเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหลายเรื่องครอบคลุมประเด็นเชิงนโยบายทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและเติบโตในระยะยาว อีกทั้ง ยังมีบางส่วนลงลึกไปสู่ขั้นตอนปฏิบัติ เช่น ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวของไทยเป็นการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราประทับใจ คือ ผู้เข้ารอบมีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจไทยดีพอสมควร โดยเฉพาะหลักทฤษฎีและข้อถกเถียงกันในสังคม จนสามารถตีโจทย์ได้ค่อนข้างตรงจุด
“ข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะเริ่มต้น ซึ่งนิสิตนักศึกษาจะต้องทำการบ้านต่อไปว่าสิ่งใดคือกระบวนการข้อเสนอที่ดีนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจด้านการวิจัยเชิงนโยบาย เพราะเชื่อว่านโยบายที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากฐานความรู้ที่ถูกต้องและประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาสังคม
ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ คสช.ว่า ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงบุคลากรระดับสูงภาครัฐ ซึ่งทำได้รวดเร็ว แต่ผลลัพธ์ไม่ยั่งยืน แม้จะได้คนดีมานั่งในตำแหน่งมากแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไป คือ การปรับกฎกติกาในสังคมเกี่ยวกับการทำงานภาคเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใสสร้างการมีส่วนร่วม และประชาชนได้ประโยชน์ โดยคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่และสภาปฏิรูปจะทำกัน
“กฎกติกาที่ดีอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ หากประชาชนไม่มีความเข้าใจและสนับสนุนมากพอ ฉะนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายในสังคม” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า การแก้ปัญหาปัจจุบันนี้เป็นเพียงการช่วยขับเคลื่อนเรื่องที่ติดขัด ยกตัวอย่าง กรณีจำนำข้าว แต่ระยะยาวจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทำในระยะสั้นได้ เรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาต่อเนื่อง โดยช่วงปีที่จะมาถึงต้องทำให้เกิดความเห็นร่วมกันของคนในสังคมชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันการล้มกฎกติกาภายหลัง ท้ายที่สุด คสช.จะขับเคลื่อนอย่างเกิดประโยชน์ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้ .