“ดร.เมธี” แนะตั้งศาลพิเศษ ไต่สวนคดีทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ
“ศ.เมธี ครองแก้ว” แนะตั้งศาลพิเศษไต่ส่วนคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เลียนแบบอินโดฯ หวังลดปัญหาระบบศาลที่ล้าช้า
ศาสตราจารย์ ดร. เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการปฏิรูปปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้นต้องมีการปรับวิธีการไต่สวนคดีที่แตกต่างจากคดีอื่นๆ โดยตั้ง "ศาลพิเศษ" ขึ้นมา เพื่อพิจารณาคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำมาสู่กระบวนการพิพากษาที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมปราศจากข้อสงสัยได้ โดยการตั้งศาลพิเศษดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาความล้าช้าของคดีลงได้
สำหรับการไต่สวนในระบบศาลพิเศษนั้น อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้พิพากษาที่อยู่ในระบบของศาลเพียงอยากเดียว แต่ให้มีการนำนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตัดสินด้วย ซึ่งเห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากได้ในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งอยากให้กระบวนการฟ้องนั้นผู้ฟ้องเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปช.)โดยตรงเพราะจะทำให้อาณาเขตการทำงานงานลดลง ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น
เมื่อถามถึงการปฎิรูปเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีมายาวนานและทำได้ยากลำบาก ศ.ดร. เมธี กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นมีมายาวนาน ดังนั้นการเข้มงวดในกระบวนการการไต่สวนจะต้องเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้มองว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นในอดีตถึงปัจจุบันไม่ได้มีเพิ่มมากขึ้น แต่ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและเป็นที่จับตามองของคนทั่วไป
“เมื่อถามว่ามีการทุจริตเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ผมว่าไม่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเราสนใจกันมากกขึ้น เราก็จะมองเห็นเพิ่มขึ้นอีกผมว่าถ้าเราค้นพบการทุจริตมากขึ้น การที่คนที่คิดจะทุจริตต้องคิดทบทวน แล้วคิดด้วยว่า มีคนจ้องมองอยู่ ”
ศ.ดร. เมธี กล่าวถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในมาตรา 35 กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มีกรอบการทำงาน 10 ประการ หนึ่งในนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยให้หากลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงคนทุจริตไม่ให้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดว่า สำหรับกลวิธีที่จะนำมาใช้ไม่แน่ใจว่าจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่ จากรัฐธรรมนูญชั่วคราวเข้าใจว่า อาจจะมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางท่านเสนอที่อยากจะให้มีการไต่สวนเอกชนได้โดยตรง เพื่อให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น เนื่องจากกฎหมายมีอยู่แล้วเกี่ยวกับการดำเนินคดี ประกอบกับการไต่สวนจะนำภาครัฐตั้งเป็นโจทก์ไว้
ทั้งนี้ ศ.ดร. เมธี กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของกฎหมายอยู่ที่การบังคับใช้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นกฎหมายที่มหาโหดที่สุดประเทศหนึ่ง การทุจริตมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่ในเมืองไทยไม่เคยมี เพราะเราไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด