พลิกปูม "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" 9 ฉบับ ในประวัติศาสตร์การยึดอำนาจของไทย
"ภาพรวมที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวภายหลังการรัฐประหารมักมีคล้ายกัน คือการคงอำนาจของผู้นำคณะรัฐประหารเอาไว้ รวมทั้งนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารไม่มีความผิด ขณะเดียวกัน ก็เป็นกระจกสะท้อนด้วยเช่นกันว่า ฉบับใดเผยให้เห็นเจตนารมณ์อันทำเพื่อส่วนรวม หรือฉบับใดเดินย่ำรอยเผด็จการ...แต่ไม่ว่าอย่างไร ทุกมาตราและสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือข้อเท็จจริงที่ล้วนต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไม่อาจหลีกพ้น..."
พลันที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ปรากฏสู่สาธารณะ เสียงวิพากษืวิจารณ์ก็เป็นไปอย่างอื้ออึงและเปี่ยมด้วยทัศนะหลากหลาย บ้างชื่นชม บ้างท้วงติง ตั้งข้อสังเกตต่อขอบข่ายอำนาจ คสช.ที่อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถือโอกาสนี้ พาผู้อ่านทบทวนประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่านับแต่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจครั้งแรก คือการอภิวัฒน์ในปี พ.ศ.2475 กระทั่งการยึดอำนาจโดย คสช. มีสิ่งใดบ้าง ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่ละฉบับวางไว้เป็นแนวทางหรือรูปแบบให้กับคณะรัฐประหารในรุ่นต่อๆ มา
ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การทบทวนอีกต่อหนึ่งว่า หลังจากการรัฐประหารและมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้นในแต่ละครั้งแล้ว ประเทศไทยของเรานับจากนั้น ก้าวเดินไปสู่หนทางใดบ้าง
สาระสำคัญ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้ง 9 ฉบับ มีดังต่อไปนี้
-1- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
ที่มา วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรผู้ทำการอภิวัฒน์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) ข้าราชการทหารบก ทหารเรือและข้าราชการพลเรือน ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองประเทศและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากนั้นนำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งได้ร่างเตรียมไว้แล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่วังสุโขทัย จากนั้น วันที่ 27 มิถุนายน จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วพระราชทานแก่คณะราษฎร ถือเป็นรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครองประเทศเป็นครั้งแรก มีชื่อเรียกว่า
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
สาระสำคัญ
มาตราแรกของรัฐธรรมนูญหรือธรรมนญฉบับนี้ บัญญัติให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย และจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญ ยังใช้คำเรียกองค์พระประมุขว่า “กษัตริย์” ก่อนที่ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จะบัญญัติคำเรียกพระประมุขว่า “พระมหากษัตริย์” )
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน กำหนดให้กษัตริย์มีฐานะเท่าเทียมกับคณะกรรมการราษฎร สภาผู้แทนราษฎร และศาล โดยสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจสูงสุดในการวินิจฉัยทางการเมือง รวมทั้งสามารถพิจารณาคดีเกี่ยวกับกษัตริย์ได้
นอกจากนั้น รัฐธรรมนุญฉบับนี้ บัญญัติให้มีฝ่ายบริหารขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า คณะกรรมการราษฎร หรือหมายถึงคณะรัฐมนตรีนั่นเอง มีทั้งสิ้น 15 นาย ประกอบด้วยประธาน คณะกรรมการราษฎรและกรรมการราษฎรอีก 14 นาย โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง มีหน้าที่บริหารงานตามเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎร คือ สามารถปลดกรรมการราษฎร ( รัฐมนตรี ) ได้โดยคณะรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร
-2- รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม จุดกำเนิด “องคมนตรี”
ที่มา รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร โดยการนำของ พลโทผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และในวันรุ่งขึ้น คณะรัฐประหารได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รู้จักกันดีในชื่อรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม มีที่มาจากก่อนเกิดรัฐประหาร พลโทหลวงกาจสงคราม ( กาจ เก่งระดมยิง) หนึ่งในคณะรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นแล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำ เพราะเกรงว่าความจะแตกถ้าหากมีใครมาพบเข้า
สาระสำคัญ
รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มนี้ มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 98 มาตรา สิ่งสำคัญที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้คือมีบทบัญญัติให้มีคณะอภิรัฐมนตรี จำนวน 5 นาย มีหน้าที่บริหารราชการแทนพระองค์ และถวายคำปรึกษา แก่พระมหากษัตริย์ และในบางกรณีอาจได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย
คณะอภิรัฐมนตรีจำนวน 5 นายในครั้งนั้น ประกอบด้วย พระบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะอภิรัฐมนตรี, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็นอภิรัฐมนตรี, พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ เป็นอภิรัฐมนตรี, พระยามานวราชเสวี เป็นอภิรัฐมนตรี และ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอภิรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 แก้ไขเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวาระเริ่มแรกเป็นแบบรวมเขตจังหวัด และกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้ พระบรมวงศ์สานุวงศ์สมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย
ครั้งที่ 2 วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 40 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และเพื่อบัญญัติให้ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่
ครั้งที่ 3 วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2491 แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อบัญญัติให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีเอกสิทธิและได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภา
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีอายุการใช้บังคับ เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 14 วัน
-3- รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ที่มา คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่างขั้นและประกาศใช้ เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 โดยมี จอมพลสฤษดิ์ เองเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญชั่วครางฉบับนี้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สั้นที่สุด คือ มีบทบัญญัติ รวมทั้งสิ้นเพียง 20 มาตรา
สาระสำคัญ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการจัดโครงสร้างการปกครองประเทศไว้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น คือ ได้แยกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างเด็ดขาด โดยให้ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี มีอำนาจพิเศษตามมาตรา 17 ที่จะสั่งการหรือดำเนินการใดๆ ก็ได้อย่างเฉียบขาด ด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์ ในการระงับและปราบปราม การกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ โทษตามความผิดดังกล่าว มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
มีการกำหนดให้ รัฐสภามีสภาเดียว คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีสมาชิก 240 คน ทำหน้าที่ทั้งในการร่างรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วย แต่ไม่มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะเป็นเพียงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ก็ถูกบังคับใช้เป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ก่อนจะยกเลิกเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรแล้วเสร็จ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511
-4-รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครอง ราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ที่มา คณะรัฐประหาร โดยการนำของ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ได้นำเอาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ ให้มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 23 มาตรา และคงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ มาบังคับใช้ด้วย
สาระสำคัญ
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง จากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ทำหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และให้ความเห็นชอบร่างรัฐะรรมนูญที่คณะรัฐมนตรี เสนอมาให้พิจารณาเท่านั้นและกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี แต่ไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ใช้บังคับอยู่ 1 ปี 9 เดือน 21 วัน
-5-รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ที่มา คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำการยึดอำนาจและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2517 แล้ว ได้ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น และประกาศใช้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติ 29 มาตรา กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียว คือ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 300 คน แต่ไม่เกิน 400 คน แยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน
และบัญญัติให้อำนาจพิเศาแก่นายกรัฐมนตรี ไว้ในมาตรา 21
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องใดๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีปรึกษา
-ุ6-รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครอง ราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ที่มา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการคณะรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2520 และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 จึงได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติ 32 มาตรา บัญญัติให้รัฐสภาเป็นสภาเดียว คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งตามที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ นำความกราบบังคมทูลฯ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 300 คน แต่ไม่เกิน 400 คน
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นรัฐสภาที่มีอำนาจน้อยที่สุด เนื่องจากไม่มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ์เสนอร่างพระราชบัญญัติ เพราะอำนาจเสนอกฎหมายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 27 ยังกำหนดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้นายกรัฐมนตรีด้วย
-7-รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ที่มา คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ( ร.ส.ช. ) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนั้นนำร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 โดยมี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญ
ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 33 มาตรา บัญญัติให้มีสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยบุคคล ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ บัญญัติให้อำนาจพิเศษหรืออำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรี ร่วมกับประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในมาตราที่ 27
-8- รัฐธรรมนูญฉบับ ที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
ที่มา คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คมช. ) นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญ
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ มีบทบัญญัติทั้งสิ้นรวม 39 มาตรา และมีบทบัญยัติให้แปลงคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คมช. ) เป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดยอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อีก ไม่เกิน 15 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
นอกจากนี้ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือเรื่องอื่นใดเป็นครั้งคราวก็ได้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดให้ ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ในเวลาเดียวกัน
-9- รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ที่มา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
สาระสำคัญ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 48 มาตรา โดยนับตั้งแต่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากคนในสังคม ทั้งในแง่สนับสนุนบทบัญญัติที่เข้มงวดกับคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการวางกรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ให้ใช้นยาบประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้งแต่งตั้ง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ถูกวิพากษ์อย่างมากถึงขอบข่ายอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ที่คงความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 44 ที่นักวิชาการบางราย อาทิ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สะท้อนว่ามีขอบข่ายอำนาจไม่ต่างจากมาตรา 17 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ หรือจอมพลถนอม ที่สามารถสั่งประหารชีวิตได้
ทั้งนี้ มาตรา ที่สังคมให้ความสนใจ และวิจารณ์ถึงขอบข่ายอำนาจของ คสช. อาทิ มาตรา 19 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติและให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรี ถวายคำแนะนำ”
มาตรา 30 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ใน การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของ ชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
…
เหล่านี้คือตัวอย่างเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ความเป็นมาแห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบวัฒนธรรมที่ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ภาพรวมที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวภายหลังการรัฐประหารมักมีคล้ายกัน คือการคงอำนาจเบ็ดเสร็ดเด็ดขาดของผู้นำคณะรัฐประหารเอาไว้ รวมทั้งนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารไม่มีความผิด
ขณะเดียวกัน ก็เป็นกระจกสะท้อนด้วยเช่นกันว่า ฉบับใดเผยให้เห็นเจตนารมณ์อันทำเพื่อส่วนรวม มุ่งแก้ไข สร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือฉบับใดเดินย่ำรอยเดิมและมุ่งสถาปนาอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ…
ไม่ว่าอย่างไร ทุกมาตราและสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือข้อเท็จจริงที่ล้วนต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไม่อาจหลีกพ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
-หนังสือนิติสาส์น ฉบับเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม พ.ศ. 2475
-รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย
-กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์
-รัฐธรรมนูญไทย
-ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม ( พ.ศ. 2475-2500)
-สารคดี “80 ปี การเมืองไทย 2475-2555” นิตยสารสารคดี ประจำเดือนมิถุนายน 2555
( อ่านประกอบ : สมบัติ ธำรงธัญวงศ์: วิพากษ์ 5 มาตรา รธน.ชั่วคราว อำนาจพิเศษแห่ง "คสช." )
(อำนาจ “พล.อ.ประยุทธ์”ใน รธน.ฉบับชั่วคราว"ซุปเปอร์นายกฯ" 18 มาตรา )