ถอดบทเรียนคอร์รัปชั่น 'เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน' แก้ได้ ผู้นำเอาจริง
ผลวิจัยคอร์รัปชั่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ชี้ 3 ประเทศหลุดวงจรทุจริต เพราะผู้นำแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด
วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ร่วมกับสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "การปราบปรามคอร์รัปชั่นในประเทศเอเชียตะวันออก:บทเรียน และนัยยะต่อประเทศไทย" ณ ห้อง สายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ดร.วิเชียร อินทะสี ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นในระบบการเมืองของเกาหลีใต้ เนื่องจากรัฐบาลแทรกแซงระบบเศรษฐกิจหรือตลาดโดยรัฐเป็นผู้ชี้นำ ทั้งกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม การให้สินเชื่อและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขาดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการทำหน้าที่ นอกจากนี้ในระบบการเมืองยังมีการเกื้อกูลและการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ดร.วิเชียร กล่าวถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของเกาหลีใต้ว่า ใช้วิธีการปฎิรูปการเมืองโดยยึดหลักการประชาธิปไตย โดยประชาชนสามารถแสดงออกถึงความต้องการและตรวจสอบรัฐบาลได้ และในขณะเดียวกันผู้นำการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และผู้กระทำผิดในคดีคอร์รัปชั่นต้องได้รับโทษ เช่น การลงโทษนักการเมือง และเจ้าของธุรกิจ อีกทั้งเกาหลีใต้ยังมีการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลตั้งแต่เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 รวมถึงการประกาศนโยบายการเข้าสู่ยุคเซ-กเยฮวาในสมัยประธานาธิบดีคิมยองซัม และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส การปฏิรูปกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และการแก้ปัญหาความรู้สึกภูมิภาคนิยมเพื่อขจัดปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก
"ที่สำคัญคือบทบาทของประชาชนในเกาหลีใต้จริงจังมากในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น คือ เอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง จึงทำให้สถานการณ์เรื่องการทุจริตของเขาดีขึ้น"
ด้านนายวทัญญู ใจบริสุทธิ์ นักวิจัย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ กล่าวถึงรูปแบบและการแก้ไขคอร์รัปชั่นในญี่ปุ่น ว่า สภาพปัญหาการคอร์รัปชั่นของญี่ปุ่นก่อนการปฏิรูปในทศวรรษที่ 1990 คือการรับเงินบริจาคของนักการเมืองและข้าราชการรับสินบนและใช้เงินผิดประเภท ส่วนมูลเหตุของการคอร์รัปชั่นคือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การเลือกตั้งระบบหนึ่งเขตมีผู้แทนหลายคน ระบบพรรคการเมืองที่มีการแบ่งกลุ่มการเมืองภายในพรรคอย่างชัดเจน และการรับบริจาคเงินของพรรคการเมือง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นแก้ไขปัญหาด้วยการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ และมาตราการของภาคเอกชน
นักวิจัย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ กล่าวด้วยว่า ในการปฏิรูปการเมืองเริ่มต้นด้วยการปฏิรูประบบการเลือกตั้งจาก 1 เขต 1 คน หรือเขตเดียวเบอร์เดียวผสมกับสัดส่วนตัวแทน มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเงินทุนทางการเมือง กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินอุดหนุนพรรคการเมือง ส่วนในการปฏิรูปราชการปฏิรูปด้วยการลดจำนวนกระทรวง ทบวง บัญญัติกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูล มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการเพื่อการค้าที่เป็นธรรม และยังออกกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนมาตราการของภาคเอกชนคือให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมายของบริษัทภายใต้ charter of corporate behavior
"หากเราดูตารางเปรียบเทียบอันดับการคอร์รัปชั่นระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปี 1995 ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 20 ไทยอยู่อันดับที่ 34 หลังญี่ปุ่นปฏิรูปเมื่อปีที่แล้ว 2013 ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่18 ส่วนไทยห่างไกลมากตกมาอยู่อันดับที่102"
ขณะที่นางสาวยุพิน คล้ายมนต์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ กล่าวถึง สภาพปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า มีทั้งการรับสินบน การยักยอกเงินหลวง หรือรัฐวิสาหกิจ เอื้อประโยชน์คนใกล้ชิด การใช้เงินหลวงอย่างฟุ่มเฟือย และแม้ประเทศจีนจะมีกฎหมายเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นแต่ในยุคนั้นก็มีระบบเส้นสายทำให้ระบบกฎหมายมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการบังคับใช้
"จีนเองหาทางการแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งสำนักงานป้องกันการทุจริตแห่งชาติจีนลักษณะคล้ายคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในบ้านเรา มีการบังคับใช้กฎหมาย และกฎเหล็ก11ข้อของสี จิ้น ผิง"นางสาวยุพิน กล่าว และว่า ลักษณะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในจีนจะใช้นโยบาย Top-Down ของพรรคคอมมิวนิสต์เนื่องจากสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งความจริงจังและความต่อเนื่องของนโยบายในการแก้ปัญหา ซึ่งจากผลการแก้ปัญหาส่งผลให้ค่าความโปร่งใสของการทุจริตคอร์รัปชั่นจีนดีขึ้น ดังนั้น จึงหวังว่าประเทศไทย นักกฎหมายไทยจะร่วมกันหาแนวทางที่จะช่วยกันทำให้การทุจริตในบ้านเราลดลง
ส่วนศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร กีรตยาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปว่า จากรายงานวิจัยทั้ง 3 ประเทศสรุปได้ในภาพรวมว่า ถ้าระบบการเมืองมีการตรวจสอบ โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม นักการเมืองไม่เข้าไปแทรกแซงในภาคเศรษฐกิจหรือกลไกตลาด ผู้นำประเทศเอาจริงเอาจัง ประชาชนมีความตื่นตัวไม่มองเรื่องทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบไหนถ้าแก้ปัญหาจริงจังย่อมทำได้ทั้งนั้น