ดร.บวรศักดิ์ ขีดเส้นใต้ ใครซื้อเสียง-ทุจริต อ่านม. 35 (4) รธน.ฉบับชั่วคราวให้ดี
"รัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า ต่อไปนี้คนซื้อเสียง หากพิสูจน์ได้ว่าซื้อจริง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ดังนั้นใครคิดจะซื้อเสียงให้อ่านมาตรา 35 (4) ให้ดี เสี่ยงมากที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต รวมถึงคนทุจริตด้วย”
วันที่ 24 กรกฎาคม ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายในงานสัมมนา (ครั้งที่ 2 ) “การปฏิรูปประเทศไทย:การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา” ณ ห้องพินิตประชานาถ ศาลาว่าการกลาโหม ถนนสนามไชย ตอนหนึ่งถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ของ คณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คกม.สรส.สลธ.คสช.) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ศ.ดร.บวรศักดิ์ ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีองค์กรสำคัญๆ 5 องค์กร คือ 1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปร..) และ 5 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของครม. ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี ต่างจากรัฐธรมนูญฉบับอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ระบุว่า “รัฐมนตรีคนหนึ่ง และคณะรัฐมนตรีอีก 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน”
“ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มาตรา 19 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ””เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว และว่า แปลว่า ครม.ที่จะตั้งขึ้นใหม่ มีหน้าที่ เพิ่มขึ้นอีก 2 หน้าที่ เป็นหน้าที่ “เฉพาะกาล” คือ การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต้องเขียนไว้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. และไม่ต้องการให้การยึดอำนาจ “เสียเปล่า” อย่างที่มีการกล่าวถึงการยึดอำนาจที่ผ่านมา
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิก 250 คนนั้น มีข้อน่าสังเกตอายุของสมาชิกสภาปฏิรูปฯ รัฐธรรมนูญได้ลดอายุลง จาก 40 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติขององค์กรอื่นทั้งหมด เป็น 35 ปี ทำหน้าที่ปฏิรูปใน 11 ด้าน ได้แก่ การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน,กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม,การปกครองท้องถิ่น, การศึกษา, เศรษฐกิจ,พลังงาน,สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม,สื่อสารมวลชน,สังคม และ อื่น ๆ ขณะที่ที่มาสภาปฏิรูปฯ ก็ต่างจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดทำรัฐธรรมนูญเอง แต่กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ตามมาตรา 32 ขณะที่สภาปฏิรูปฯ มีสิทธิ์ 3 ประการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 31”
ขณะที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราม มาตรา 32 จำนวน 36 คนเท่าจำนวน ครม. ที่สำคัญ รัฐมนตรีจะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ขณะที่สมาชิกสนช. สมาชิกสภาปฏิรูป หรือแม้แต่คนนอก ก็เป็นได้
“ครั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ชัดเจนว่า มีกรอบให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไปดู ซึ่งเป็นบัญญัติ 10 ประการ ในมาตรา 35 ที่ต้องขีดเส้นใต้ มีดังนี้
(1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
(2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย
“รัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องการเห็นไปลอกฝรั่งมาทั้งดุ้น อะไรเหมาะให้สมกับสังคมไทยต้องทำ”
(3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน
“เมื่อก่อนปราบแต่ภาครัฐแต่ภาคเอกชนไม่คิด วันนี้ให้คิดด้วย”
(4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
“แปลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า ต่อไปนี้คนซื้อเสียง หากพิสูจน์ได้ว่าซื้อจริง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ดังนั้นใครคิดจะซื้อเสียงให้อ่านมาตรา 35 (4) ให้ดี เสี่ยงมากที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต รวมถึงคนทุจริตด้วย”
(5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“แปลว่า หุ่นเชิดทางการเมืองจะมีไม่ได้อีกแล้วต่อไปนี้”
(6) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ
(7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
“พูดง่ายๆ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ต้องแก้ แก้ให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมเพื่อให้การพัฒนายั่งยืน และแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยมก็จริง แต่นี่คือประชานิยม ไม่ได้ห้ามประชานิยมทุกประเภท แต่ประชานิยมที่ก่อให้เกิดผลดีไม่ได้ห้าม แต่ ห้าม “การบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” ”
(8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ
“เงินนอกงบประมาณต้องถูกดึงเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงเงินรัฐวิสาหกิจที่นำไปแจกสิทธิประโยชน์ต่างๆ กันมากมายมหาศาล”
(9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้
“อันนี้สำคัญ หากรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการสำคัญไว้แล้ว หากให้ส.ส.หรือ ส.ว.มาแก้ได้ตามใจชอบ แปลว่า ก็ไม่มีความหมาย”
(10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย
“เขารู้ว่า 1 ปีปฏิรูปไม่สำเร็จ จึงกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดกลไกให้มีการปฏิรูปต่อเนื่อง รวมถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากจะให้มีต่อก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลด้วย”
สำหรับตารางเวลาที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้นั้น ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า หากกางรัฐธรรมนูญและอ่านทุกมาตราจะพบว่า เมื่อมีการตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ยังไม่มีการนับอะไรทั้งสิ้น จะนับหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดเมื่อมีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก
“นับหนึ่งตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก ฉะนั้นคาดว่า จากนั้นอีก 11 เดือนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องทั้งหมดก็จะเป็นที่ยุติชัดเจน เว้นแต่สภาปฏิรูปฯ จะถูกยุบเพราะทำไม่เสร็จ หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ ”
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 48 มาตรา แก้วิกฤตขัดแย้งประเทศ