ประมงพื้นบ้านฯ เตรียมฟ้อง พีทีทีจีซี'-6 หน่วยงานรัฐ ชดใช้ 400 ล้านบ.
ประมงพื้นบ้านฯ ฟ้อง ’พีทีทีจีซี-6 หน่วยงานรัฐ’ ต่อศาลระยอง 25 ก.ค. 57 ร้องชดใช้ค่าเสียหาย-ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล หลังวิกฤติน้ำมันรั่ว 1 ปีไม่คืบ ขาดการเยียวยาเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้าน และกลุ่มแม่ค้า ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลออกทะเล พื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556
ล่าสุด ผู้ได้รับผลกระทบรวม 455 ราย เตรียมยื่นฟ้องพีทีีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบำบัดแก้ไขปัญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชน และทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ความแพ่ง และศาลปกครองระยอง ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 นี้
โดยจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพ โดยประมาณกว่า 400 ล้านบาท และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากปัญหาน้ำมันรั่ว โดยให้บริษัทฯ จัดสรรงบประมาณสู่กองทุนฯ คิดเป็นร้อยละ 10 ของกำไรเฉลี่ยต่อปี (บริษัท พีทีทีจีซี มีกำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 30,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ตลอดช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่ว พีทีทีจีซี ไม่ได้มีการแก้ปัญหา ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเล และเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างสมเหตุสมผล ประกอบกับการฟ้องคดี จะหมดอายุความในวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
นายละม่อม บุญยงค์ ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กปากน้ำบ้านเราจังหวัดระยอง หนึ่งในชาวประมงพื้นบ้านผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ตัวเองมีรายได้จากการออกเรือจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งเฉลี่ยวันละ 8,000 – 9,000 บาท บางฤดูได้มากกว่าวันละ 10,000 บาท แต่ภายหลังบริษัทฯ ก่อเหตุน้ำมันรั่วไหล ทำให้ระบบนิเวศแปรปรวน สัตว์น้ำ เช่น กุ้งและปลาที่เคยหาได้ในระยะใกล้ชายฝั่ง 1 ไมล์ทะเล ย้ายถิ่นหายไปหมด จนไม่สามารถออกเรือไปหาสัตว์น้ำไกลกว่านั้นได้ เพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน ตัวเองและครอบครัวต้องเลิกทำอาชีพประมง ลูกชายต้องไปรับจ้างเป็นยามหารายได้จุนเจือครอบครัว
"ทุกวันนี้ต้องขาดรายได้และได้รับเพียงเบี้ยผู้สูงเดือนละ 600 บาทเท่านั้น ซึ่งแม้เหตุการณ์น้ำมันรั่วจะผ่านมา 1 ปีแล้ว แต่ยืนยันว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ยังไม่กลับมาสะอาดสดใสเช่นเดิม ดังที่หน่วยงานบางส่วนพยายามกล่าวอ้าง และยังเกิดปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันลอยขึ้นมาติดชายฝั่งอยู่เป็นระยะ" ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กฯ กล่าว
ด้านน.ส.ณิชมน คงเจริญ แม่ค้าผู้ประกอบกิจการขายอาหารทะเลบริเวณหาดแม่รำพึง กล่าวว่า ตั้งแต่ประกอบอาชีพค้าขายอาหารทะเลมานานกว่า 30 ปี ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ที่สินค้าประมงในพื้นที่จังหวัดระยองมีราคาแพงและขาดแคลนเท่านี้ ปูที่แม่ค้ารับซื้อมากิโลกรัมหนึ่งราคาสูงถึง 400-500 บาท เนื่องจากต้องสั่งสินค้าประมงจากนอกพื้นที่ เพราะหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เรือประมงชายฝั่งในจังหวัดไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาส่งให้แม่ค้าเช่นเดิมได้
"นักท่องเที่ยวก็มีจำนวนน้อยลงมาก และยังไม่นิยมมาท่องเที่ยวจังหวัดระยอง สะท้อนได้จากรายได้ของตัวเองและเพื่อนร่วมอาชีพที่ลดลงอย่างน่าใจหาย จากเดิมที่เคยขายอาหารทะเลได้กำไรอย่างต่ำวันละ 2,000 – 3,000 บาท และช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เคยขายได้กำไรมากถึงวันละ 10,000 – 20,000 บาท" เเม่ค้าหาดเเม่รำพึง กล่าว เเละว่าทุกวันนี้แทบไม่มีกำไรจากการค้าขาย บางสัปดาห์ก็ขายได้เพียง 1,000 กว่าบาทเท่านั้น คนในครอบครัวต้องแยกย้ายไปทำอาชีพรับจ้าง ขณะที่ตัวเองวางแผนจะหันไปขายอาหารตามสั่งที่บ้านแทนขายอาหารทะเล เพราะไม่สามารถหารายได้พอเลี้ยงครอบครัวอีกต่อไป
น.ส.ณิชมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟ้องร้องบริษัทฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ นอกจากเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการสูญเสียอาชีพแล้ว เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การเรียกร้องให้บริษัทฯ และหน่วยงานหันมาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ใกล้เคียงที่เป็นอยู่เดิมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนในการอาศัยและทำมาหากินให้กับคนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาเห็นเพียงการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย
ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า วิกฤตการณ์น้ำมันรั่วในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นปรากฏการณ์ทำนองเดียวกับวิกฤตการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบริเวณอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐ เมื่อปี 2553 ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ ยังคงพบก้อนน้ำมันลอยขึ้นมาติดชายฝั่ง และมลพิษในทะเลยังไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้ โดยมองว่า วิธีการขจัดคราบน้ำมันด้วยการฉีดสารเคมีสลายคราบน้ำมันของบริษัทนั้น ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหา เนื่องจากการใช้สารเคมีฉีดสลายคราบน้ำมันนั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มสารที่เป็นพิษสู่ท้องทะเลแล้ว ยังทำให้ก้อนน้ำมันแตกตัวแทรกซึมสู่สิ่งมีชีวิต ส่วนก้อนน้ำมันบางส่วนที่ไม่แตกตัว ก็จมสู่ก้นทะเล ตกค้างเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศอยู่ต่อไป .
ภาพประกอบ:www.easybranches.co.th