ชาวบ้านแม่ยมทำ จม.เปิดผนึกถึง “ยิ่งลักษณ์” เสนอทางออกดีกว่า “เขื่อนแก่งเสือเต้น”
เครือข่ายลุ่มน้ำยม จี้รัฐบาลทบทวนแผนจัดการ 25 ลุ่มน้ำแก้ท่วม-แล้งอย่างบูรณาการ บรรจุการจัดการน้ำโดยชุมชนในแผนแม่บทจัดการน้ำชาติ ยุติเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้น-ยมล่าง-ยมบน แจงยิบผลวิจัยหลายสำนักเสี่ยงแผ่นดินไหวกว่าสึนามิ-ไม่คุ้มทุน ชงทางเลือกใหม่หนึ่งตำบลหนึ่งอ่าง-เหมืองฝายภูมิปัญญา
วันที่ 12 ส.ค.54 เครือข่ายลุ่มน้ำยมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น” โดยระบุว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำยม ซึ่งนายกรัฐมนตรีหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอทบทวนแผนบริหารจัดการทั้ง 25 ลุ่มน้ำของไทยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยบูรณาการอย่างเป็นระบบ และยังให้ปรับแก้ระเบียบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ทันต่อความเดือดร้อนประชาชน
เครือข่ายลุ่มน้ำยม เห็นด้วยที่จะทบทวนแผนดังกล่าว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หัวใจของแผนต้องเน้นการพัฒนาที่มาจากชุมชน มีมิติองค์รวมไม่มองน้ำแยกส่วนจากทรัพยากรลุ่มน้ำทั้งดิน น้ำ ป่า ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ควรขับเคลื่อนไปด้วยกัน อาทิ การจัดการที่ดิน การเกษตรบนที่สูง ส่งเสริมสนับสนุนโฉนดชุมชน การจัดการน้ำชุมชน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ อนุรักษ์ป่าชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีการอนุรักษ์ป่าของชนเผ่า
เครือข่ายลุ่มน้ำยม ขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน โดยไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนี้ 1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าไม้ ปลูกป่าเสริม จัดการป่าโดยประชาชนมีส่วนร่วม จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้กลับคืนมาสมดุลยั่งยืนโดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ 2.ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ การพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยชุมชนเป็นแกนหลักพัฒนาแผนจัดการน้ำของแต่ละชุมชน รัฐสนับสนุนงบประมาณให้เป็นรูปธรรม
3.แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีลุ่มน้ำยมมี 77 ลำน้ำสาขา สามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตามรายละเอียดในแผนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้งบเฉลี่ยหมู่บ้านละ 3 ล้านบาทเท่านั้น 4.แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ กรณีของลุ่มน้ำยมมี 96 ตำบล ใช้งบไม่เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่ 5.ขุดลอกตะกอนแม่น้ำ ซึ่งจะฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติได้ ทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน สร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน เป็นต้น
6.ฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมแม่น้ำกับหนองบึง ยกถนนสูงขึ้นหรือเจาะถนนไม่ให้ขวางทางน้ำ สร้างบ้านเรือนสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด แนะนำเกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ กำหนดเป็นเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วม ยุติโครงสร้างพื้นฐานขวางทางน้ำ ใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว แหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากสอดคล้องระบบนิเวศน์ ยังป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างลงมาถึงกรุงเทพได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (มากกว่าความจุแก่งเสือเต้นอีก)
7.การจัดการความต้องการน้ำ ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานของกรมชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ ระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบของกรมชลประทานมีประสิทธิภาพต่ำเพียง 35% ระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลก 64% จึงเสนอการจัดการด้วย DSM โดยซ่อมบำรุงระบบเดิมให้มีประสิทธิภาพ หนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำ จะทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะระบบของกรมชลประทานจะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับปริมาณอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
8.พัฒนาระบบประปา เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ ปัญหาไม่ได้เกิดจากขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ เช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้งเพราะระบบสามารถผลิตเพียง 60 % ของความต้องการ การขยายระบบการผลิตจะช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น 9.สนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาชาบ้านแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้ชุมชนอย่างเป็นจริงมากกว่าเขื่อนขนาด
แถลงการณ์ยังระบุว่า ประสบการณ์กว่า 40 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ ลุ่มน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิตต์ แต่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ข้ออ้างที่ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยมจะแก้ไขปัญหาได้จึงไม่จริง ในทางกลับกันจะทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของไทยกว่า 24,000 ไร่ ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่
ผลการศึกษาระบุชัดว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ 1.กรมทรัพยากรธรณีชี้ว่าบริเวณนั้นอยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลกแพร่ซึ่งยังเคลื่อนตัว การสร้างเขื่อนเหมือนวางระเบิดบนหลังคาบ้าน หากเแตกหรือพัง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำ 72 เมตรจะทำให้มีคลื่นยักษ์กว่าสึนามิหลายเท่า 2.องค์การอาหารและเกษตรโลกระบุว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ 3.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยสรุปว่าไม่คุ้มทุนเศรษฐกิจ 4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยชี้ว่ากระทบระบบนิเวศน์อุทยานแห่งชาติแม่ยมมาก 5.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าควรเก็บรักษาไว้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ไว้ 6.มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย เสนอว่ามีทางเลือกอื่นแทนแก่งเสือเต้น 7.มหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอ 19 แผนจัดการน้ำแบบบูรณาการ แก้น้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม
เครือข่ายลุ่มน้ำยม จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ยุติการสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง และผลักดันการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ .
ที่มาภาพ : ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี