มูลนิธิชีววิถีหวั่นรบ.ชั่วคราว สอดไส้ผลักดันปลูกพืชจีเอ็มโอถูกกฎหมาย
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหวั่นรัฐบาลชั่วคราวดันปลูกพืชจีเอ็มโอถูกกฎหมายย้ำไม่ไว้ใจที่ปรึกษาบางคน ขณะที่นักรณรงค์ด้านผู้บริโภคอเมริกาชี้อย่าหวังพึ่งนโยบายจากรัฐ แนะประชาชนต้องตื่นตัวปฏิเสธและผลักดันข้อกฎหมายด้วยตนเอง
22 กรกฎาคม มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค จัดเสวนา “สถานะปัจจุบันและอนาคตจีเอ็มโอมุมมองจาก ขบวนการเคลื่อนไหวด้านผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม” ณ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
นายเจฟฟรี่ สมิธ นักรณรงค์ด้านผู้บริโภคจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในปีค.ศ.2009 สถาบันการแพทย์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาได้เตือนจีเอ็มโอมีความเสี่ยงสูงกับสุขภาพ เพราะทำลายระบบเซลล์ประสาท ระบบตับ ไต ดังนั้นจึงเตือนให้ประชาชนอย่ารับประทานอาหารที่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม ซึ่งทางสถาบันการแพทย์สิ่งแวดล้อมยังพบว่า ผู้ป่วยหลายรายที่เลิกกินอาหารประเภทดังกล่าวมีอาการดีขึ้น เช่น มีความจำดีขึ้น ความดันโลหิตปกติ
"ที่ผ่านมาหลายสิบปีอัตราของการทานอาหาร หรือสินค้าจีเอ็มโอเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จีเอ็มโอกำลังเป็นปัญหาสุขภาพไม่ใช่เฉพาะที่อเมริกาเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก แม้ที่อเมริกาประชาชนจะเริ่มเรียกร้องให้ติดฉลาก แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น”
นักรณรงค์ด้านผู้บริโภคฯ กล่าวอีกว่า ประชาชน 93% ในอเมริกาต้องการให้สินค้าประเภทจีเอ็มโอมีการติดฉลาก ซึ่งรัฐเวอร์มอนท์จะเป็นรัฐแรกที่มีการติดฉลากภายใน 2 ปีนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 2007 เป็นต้นมาประชาชนเริ่มตื่นตัวและหันมาอุปโภคบริโภคสินค้าที่ไม่ตัดแต่งพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการตื่นตัวของประชาชน พร้อมกับยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรปที่ประชาชนไม่ซื้อสินค้าประเภทจีเอ็มโอ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องออกมาประกาศว่า สินค้าของตนเองนั้นไม่ใช่จีเอ็มเอและติดฉลากสินค้าด้วยความเต็มใจแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับก็ตาม
“เคยไปพบผู้นำหลายประเทศอย่างเช่น ประเทศโปแลนด์อธิบายความรู้และชี้แจงรายละเอียดถึงผลกระทบจากจีเอ็มโอจนผู้นำในขณะนั้นเห็นด้วยและปฏิเสธสินค้าประเภทนี้ ต่อพอเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนโยบายหรือข้อเสนอดังกล่าวก็หายไปด้วย ฉะนั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราจะมาหวังพึ่งรัฐบาล ตัวประชาชนเองจะต้องตื่นตัว รู้ข้อมูลและปฏิเสธสินค้าประเภทดังกล่าว โดยเฉพาะถ้าสื่อให้ความรู้เรื่อยๆ ประชาชนจะเริ่มมีข้อมูลและปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ”
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงพืชเอ็มจีโอในเมืองไทยมีการทดลองปลูกในจังหวัดเลย จนกระทั่งเมื่อปี 2542 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบจนนำมาสู่นโยบายว่าจะสามารถปลูกพืชจีเอ็มโอได้จนกว่าจะมีกฎหมาย
"ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาที่แสดงความสัมพันธ์และความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากพืช ที่ตัดแต่งพันธุกรรมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งกระบวนการเติบโตของผู้บริโภคที่มีจุดยืนต่อจีเอ็มโอจะทำให้เกิดการผลักดันการห้ามปลูกหรือนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ดังเช่นประเทศในแทบยุโรป"นายวิฑูรย์ กล่าว และว่า ส่วนสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้อยู่ในกระแสที่มีปัญหาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาช่วยกัน
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงสิ่งที่กังวลคือปัจจุบันนี้อยู่ในสถานการณ์รัฐบาลชั่วคราว จึงกังวลว่านโยบายในการสนับสนุนเรื่องเหล่านี้จะออกมา เพราะเราไม่เชื่อมั่นในที่ปรึกษาของรัฐบาลชั่วคราวครั้งนี้ ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงเกษตรฯ ก็ดี รวมถึงการไม่สามารถที่จะไปต่อต้านอะไรได้ นี่คือสิ่งที่เรากังวลที่สุด สำหรับสถานการณ์จีเอ็มโอในเมืองไทยขณะนี้