นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ : การเมืองไม่ใช่เรื่องอุดมคติ ทุกอย่างต้องไปควบคู่กัน
“…มันต้องศรัทธาในมติของมหาชนเขา ต้องศรัทธาในประชาชนก่อน ถ้าประชาชนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เมื่อเขาไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ปฏิบัติแทนประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งเราก็ไม่อยากเข้าไปอยู่แล้วฉะนั้นก็ต้องฟังให้เยอะ และต้องให้อุดมคติกับความเป็นจริงมีจุดสมดุลกัน โดยมีอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าอุดมคติล้วน ๆ มันก็พัง หรือเป็นความจริงอย่างเดียว มันก็ล่มเช่นกัน…”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่ดีและแง่เสียดังเกรียวกราวในสังคม เมื่อเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ถูกคลอดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โดยโฟกัสส่วนใหญ่ต่างจับตาไปที่มาตรา 44 ที่ให้อำนาจ คสช. แบบ “พิเศษ” ดูแลทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งถูกสังคมครหาว่า เป็นการคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเหมือนมาตรา 17 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
รวมไปถึงกรณีสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ไร้เงา “นักการเมือง” เข้าไปยุ่มย่ามด้วย เนื่องจากต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปลอดการเมืองอย่างแท้จริง
“การเมืองที่ดีต้องมีเรื่องของอุดมคติและความเป็นจริงด้วย มันควรจะมีอุดมคติที่ผสมกับความเป็นจริงเกินครึ่ง และมันต้องไต่ระดับขึ้นไป แต่มันหนีความเป็นจริงไม่ได้ มันไม่สามารถไปถึงอุดมคติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”
เป็นเสียงของนักการเมืองที่คว่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนานของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะมือกฎหมายของพรรค ที่ออกมาแสดงคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ
ทำไม “นิพิฏฐ์” จึงกล่าวเช่นนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
@กรณีข้อบังคับของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ห้ามฝ่ายการเมืองเข้าร่วมร่าง มองอย่างไร
เขาไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนได้เสีย กลัวจะเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อฝ่ายการเมือง คือการเมืองมันมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นความจริงของการเมือง กับส่วนที่เป็นอุดมคติ ผมเข้าใจว่าคนที่ร่างเขาต้องการคนที่ร่างการเมือง ให้การเมืองเป็นอุดมคติ ฉะนั้นมันก็จะมีจุดอ่อนตรงที่เขาไม่อาจเข้าใจความเป็นจริงในทางการเมือง
ผมคิดว่าจริง ๆ แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2517 ปี 2540 ปี 2550 ถ้าเราเอาทั้ง 3 ฉบับมายำรวมกัน มันก็คงได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะผ่านการพิจารณาอย่างตกผลึก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แล้ว มันพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มันไม่สามารถพิจารณาได้ดีไปกว่านี้แล้ว
@การร่าง รธน.อุดมคติ นักการเมืองจะวางบทบาทอย่างไร
ไม่มีปัญหา เพียงแต่ถ้าเขาไม่เข้าใจความเป็นจริง มันก็ทำยาก มันก็เดินไปยาก ยกตัวอย่างเช่น เอาเครื่องรถเบ๊นซ์ไปใส่ยันม่า มันไม่จริง เขาอาจบอกว่า เครื่องรถเบ๊นซ์มันดี เครื่องยันม่า มันไม่ดี เอาเครื่องรถเบ๊นซ์ไปใส่เพื่อไถนาดีกว่า ซึ่งมันไม่จริง ขณะที่นักวิชาการมองว่า เครื่องรถเบ๊นซ์มันไม่ประหยัดน้ำมัน เครื่องยันม่าประหยัดน้ำมัน ดังนั้นเอาเครื่องยันม่ามาใส่รถเบ๊นซ์ดีกว่า ซึ่งมันไม่ได้
คือการเมืองที่ดีต้องมีเรื่องของอุดมคติและความเป็นจริงด้วย มันควรจะมีอุดมคติที่ผสมกับความเป็นจริงเกินครึ่ง และมันต้องไต่ระดับขึ้นไป แต่มันหนีความเป็นจริงไม่ได้ มันไม่สามารถไปถึงอุดมคติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาถึงบอกว่าระบบประชาธิปไตยไม่ได้ดีที่สุด แต่มันเลวร้ายน้อยกว่าระบบอื่น และระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีคำนิยามที่ยอมรับการทั่วโลก แต่มีการพัฒนาการไปเรื่อย
ฉะนั้น ผมก็หวังว่านักวิชาการที่มาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและอุดมคติทางการเมืองด้วย สองส่วนต้องไปด้วย แต่ให้อุดมคติเกินครึ่งหนึ่งมันถึงจะไปด้วยกันได้ เช่น นักวิชาการส่วนหนึ่งบอกว่า การเมืองมีการซื้อขาย ถ้าปักษ์ใต้ คุณลองมาซื้อแข่งกับประชาธิปัตย์ดูสิ มันก็ไม่ได้ เพราะมันเลยการซื้อเสียงไปแล้ว กลับกันในภาคอีสาน คุณลองมาซื้อแข่งกับพรรคเพื่อไทยดูสิ มันก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะการเมืองขณะนี้มันเป็นเรื่องของความชอบ ความศรัทธาในตัวบุคคล และในพรรคการเมือง แต่นักวิชาการไม่รู้ ไปจับทฤษฎีอย่างเดียว
ประการต่อมา นอกจากมีอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง นักร่างรัฐธรรมนูญเมืองไทยมันเห็นตัวกันอยู่แล้วว่า ประเทศไทยมีมือร่างรัฐธรรมนูญใครบ้าง เปิดหวยแทงก็รู้ว่าคนนี้คือผู้ร่าง และผู้ร่างเหล่านี้ เชื่อผมเถอะ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้เคยร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มาแล้ว และมาร่างปี 2557 มันก็คนเดิมนั่นแหละ
@ระยะเวลา 1 ปี ที่ คสช. จะตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มันน้อยหรือนานไป
ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญจริง ๆ เขียนจริง ๆ 3 เดือนก็เสร็จ มันไม่ยากหรอก มันก็ดูจุดอ่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมว่า 3 เดือนนี่ช้าสุดแล้วสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เลยไปคือเถียงกัน มันรู้กันอยู่แล้วว่าจะร่างอย่างไร และถ้าผู้ยกร่างไม่เห็นด้วย สปช. มันแก้อะไรไม่ได้เลย
ฉะนั้น 3 เดือนก็เขียนเสร็จ เพียงแต่ว่า สนช. คุณแก้กฎหมายอะไรบ้าง ตรงนี้ต้องใช้เวลา คุณจะแก้กี่ฉบับ ดูเหมือนเขาจะแก้กฎหมายเยอะ ตรงนี้ก็ใช้กฎหมายหน่อย
@มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะมีผลกระทบต่อการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีหรือไม่
มันมองได้ 2 มุม มุมหนึ่งก็คิดว่ามันผิดหลักที่เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ยึดอำนาจยังสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้ด้วยองค์กรเดียว อันนี้มันผิดหลักอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ค่อยมีอย่างนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผิดปกติประการที่ 1
ประการที่ 2 ถ้าดูว่าผิดปกติ ก็ต้องดูว่า มาตรา 44 มันคล้ายกับอาวุธปืน อาวุธมันใช้ได้ทั้งป้องกันตัวเองและป้องกันคนอื่น ขณะเดียวกันอาวุธก็ใช้ทำร้ายและฆ่าผู้อื่นได้ด้วย มันอยู่ที่คนใช้อาวุธว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์อะไร มันต้องดูที่เจตนาของผู้ใช้ เพียงแต่ถ้าให้อาวุธอยู่ในมือคน ๆ เดียวกันก็อันตรายอยู่แล้ว คุณไม่ต้องชักอาวุธหรอก แต่คุณให้คนอื่นรู้ว่าคุณมีปืนอยู่เอวเนี่ย มันก็ข่มขวัญกันได้อยู่แล้ว คุณก็เสียงดังกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ว่าปกป้องคนอื่นมันก็ไม่มีปัญหา ก็ต้องดูต่อไปว่าเขาจะใช้มาตรา 44 วัตถุประสงค์อะไร
@มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กับมาตรา 17 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ผมว่ามาตรา 44 กว้างกว่า คือมาตรา 44 มันใช้ได้ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ผมยังไม่มีข้อมูลว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ใช้มาตรา 17 ไปในทางนิติบัญญัติในกรณีไหนบ้าง เพราะสมัยนั้นเขาก็มี ครม. อยู่ แต่ขณะนั้นมาตรา 17 ใช้ในทางตุลาการด้วย แต่ใช้ในทางนิติบัญญัติผมไม่เคยเห็น
แต่มาตรา 44 สามารถใช้นิติบัญญัติได้ คือสามารถออกกฎหมายได้ เช่น อาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยมาตรา 44 เขาก็ออกได้เลย คำสั่งเขาก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่ เพราะเขายังใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอยู่
จริง ๆ ถ้าเขามีมาตรา 44 ก็ไม่จำเป็นต้องมี สนช. หรือ สปช. ก็ได้มั้ง คือใช้อำนาจแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติเหมือนเดิม ผมว่าเร็วกว่าในการปฏิรูปหรือร่างรัฐธรรมนูญ 6 – 8 เดือนก็เสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็ให้มีการเลือกตั้งได้เลย มันจะเร็วกว่าเพราะผมคิดว่า สนช. ก็ดี หรือ สปช. ก็ดี ไม่ขัดเจตนาของ คสช. หรอก มันแนวเดียวกันอยู่แล้ว
ผมแสดงความเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องมี ครม. สนช. และ สปช. หรอก คสช. ต้องการอะไร ก็ทำให้เสร็จไปได้เลยใน 6 – 8 เดือนนี้ เพราะคนเขาก็พอใจอยู่ มันจะเร็วกว่า อะไรกว่า ยิ่งมี สปช. มี สนช. และมีมาตรา 44 อยู่มันก็แย้งกันเอง
ปกติอำนาจอธิปไตยมันสูงสุดกันในแต่ละด้าน ไม่มีใครก้าวล่วง แต่มีการถ่วงดุลกัน แต่เมื่อมี สนช. มี สปช. แต่มีมาตรา 44 อยู่ คสช. มันก็เหนือกว่า สนช. หรือ สปช. อันนี้ผมไม่เคยเห็น แต่ก็ต้องคอยดูไป
@มาตรา 35 (7) และ (8) คสช. ไม่ต้องการให้นักการเมืองทำนโยบายประชานิยม มองอย่างไร
อันนี้ที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ผมคิดว่านโยบายมันต้องฝ่ายการเมืองเข้าไปทำ เขาคิดนโยบาย ถ้าชาวบ้านเลือกเขาจะทำอย่างไรได้ เพียงแต่เราเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ถ้านโยบายนี้มีการท้วงติงโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งแล้ว หรือฝ่ายค้านท้วงติงแล้วว่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย และรัฐบาลไม่ฟัง ดำเนินการต่อ รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว ในทางแพ่งและอาญา
@ต่อไปจะทำให้นักการเมืองหาเสียงไม่ได้ใช่หรือไม่
ต้องดูในฉบับถาวรว่าเขาจะเขียนอย่างไร แต่ผมก็กังวลว่า ถ้าปล่อยให้มีหน่วยงานอื่นมาตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อน มันจะกลายเป็นว่าหน่วยงานนั้นมีอำนาจเหนือกว่าพรรคการเมืองเสียอีก มันจะกลายเป็นว่า เขาขอดูนโยบายเราก่อนว่าจะบริหารประเทศชาติได้หรือไม่ ถ้านโยบายนี้เราไปใช้แล้วมันดี แต่ว่าหน่วยงานนั้นบอกว่าใช้ไม่ได้ อันนี้มันจะยุ่งเลย
เรื่องไหนเป็นดุลยพินิจในทางการเมือง ผมอยากให้นักการเมืองเขาทำ แต่ถ้าทำเรื่องไหนเสียหาย ต้องให้นักการเมืองรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว แต่ขณะนี้ไม่มีกฎหมายฉบับไหนเขียนไว้เลยว่า ถ้านโยบายนั้นเกิดความเสียหายกับประเทศชาตินั้น นักการเมืองต้องรับผิดชอบมันไม่มี
@นักการเมืองจะวางบทบาทอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว – ฉบับถาวร
ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า นโยบายไหน หรือกฎหมายไหน หรือรัฐธรรมนูญที่ออกมาแล้ว ถ้าพรรคการเมืองเขาไม่เห็นด้วย แล้วเขาจับมือกัน เวลาเลือกตั้งเสร็จ การเมืองก็แก้กลับได้หมด สมมติว่า ดีอยู่แล้ว รัฐบาลก็บอกว่าให้ทำประชามติสิว่าดีหรือไม่ดี วัดกันไปเลยว่าดีหรือไม่ ถ้าเราบอกว่ามันดีอยู่แล้ว ใครเป็นคนบอกว่าดีอยู่แล้ว ไปถามชาวบ้านเขาหรือยัง
สมมติรัฐธรรมนูญนี้ออกไปโดยไม่มีการทำประชามติ และพรรคการเมืองประกาศนโยบายว่า ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะหาเสียงว่ารัฐธรรมนูญนี้สมควรยกเลิก หรือทำใหม่หรือไม่ ก็ให้ลงมติกันเลยภายใน 3 เดือน ถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่กำลังจะร่างเนี่ย ชาวบ้านไม่เอา ไม่ผ่านการทำประชามติ ก็ต้องร่างกันใหม่ หรือแก้ไขกันใหม่ อำนาจไหนมันจะเหนือกว่าประชาชน
ผมเลยหวั่นใจว่า คราวหน้าเวลาเขาเปิดให้มีการเลือกตั้งเนี่ย ถ้าพรรคการเมืองมีนโยบายหลักว่า จะทำประชามติภายใน 90 วัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเอาหรือไม่ ถ้าประชาชนบอกว่าไม่เอา มันก็ต้องคว่ำ
ผมว่าต้องฟังเสียงประชาชน ผมไม่รู้ว่าเขาจะออกแบบอย่างไร แต่ผมติงว่า ถ้าไม่ผ่านประชามติ กลัวว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งบอกว่า ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าเลือกพรรคผม ผมจะแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าประชาชนเห็นด้วย มันก็ยุ่งอีก ยกเว้นเขาจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า แก้ไม่ได้หรือ ต้องส่งให้องค์กรใหองค์กรหนึ่งเข้ามาดูว่าคุณจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ผมว่ามันมีแน่ แต่ถ้าคานอย่างนั้น ผมก็ไปยุบองค์กรนั้นเสียก่อน
คือทั้งหมด มันต้องศรัทธาในมติของมหาชนเขา ต้องศรัทธาในประชาชนก่อน ถ้าประชาชนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เมื่อเขาไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ปฏิบัติแทนประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งเราก็ไม่อยากเข้าไปอยู่แล้ว
ฉะนั้นก็ต้องฟังให้เยอะ และต้องให้อุดมคติกับความเป็นจริงมีจุดสมดุลกัน โดยมีอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าอุดมคติล้วน ๆ มันก็พัง หรือเป็นความจริงอย่างเดียว มันก็ล่มเช่นกัน
อ่านประกอบ :“นิพิฏฐ์”เปรียบมาตรา 44 เหมือนอาวุธปืนที่เหน็บเอวตลอดเวลา
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จาก chaoprayanews