“นิพิฏฐ์”เปรียบมาตรา 44 เหมือนอาวุธปืนที่เหน็บเอวตลอดเวลา
“นิพิฏฐ์” เปรียบมาตรา 44 เหมือนอาวุธปืนที่เหน็บเอวตลอดเวลา - ชี้ร่าง รธน.ฉบับถาวร ไม่เอานักการเมืองร่วมร่างไม่เป็นไร แต่ต้องผสมความเป็นจริงกับอุดมคติเข้าด้วยกัน ไม่ใช่ให้น้ำหนักกับอย่างใดอย่างหนึ่ง ดีหรือไม่ทำประชามติวัดเสียงประชาชน
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า มาตรานี้มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งก็คิดว่ามันผิดหลักที่เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ยึดอำนาจยังสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้ด้วยองค์กรเดียว อันนี้มันผิดหลักอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ค่อยมีอย่างนี้ ประการที่ 2 ถ้าดูว่าผิดปกติ ก็ต้องดูว่า มาตรา 44 มันคล้ายกับอาวุธปืน อาวุธมันใช้ได้ทั้งป้องกันตัวเองและป้องกันคนอื่น ขณะเดียวกันอาวุธก็ใช้ทำร้ายและฆ่าผู้อื่นได้ด้วย
“มันอยู่ที่คนใช้อาวุธว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์อะไร มันต้องดูที่เจตนาของผู้ใช้ เพียงแต่ถ้าให้อาวุธอยู่ในมือคน ๆ เดียวกันก็อันตรายอยู่แล้ว คุณไม่ต้องชักอาวุธหรอก แต่คุณให้คนอื่นรู้ว่าคุณมีปืนอยู่เอวเนี่ย มันก็ข่มขวัญกันได้อยู่แล้ว คุณก็เสียงดังกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ว่าปกป้องคนอื่นมันก็ไม่มีปัญหา ก็ต้องดูต่อไปว่าเขาจะใช้มาตรา 44 วัตถุประสงค์อะไร” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
ส่วนกรณีข้อบังคับของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ห้ามฝ่ายการเมืองเข้าร่วมร่าง นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เขาไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนได้เสีย กลัวจะเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อฝ่ายการเมือง คือการเมืองมันมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นความจริงของการเมือง กับส่วนที่เป็นอุดมคติ ทั้งนี้เข้าใจว่าคนที่ร่างเขาต้องการคนที่ร่างการเมือง ให้การเมืองเป็นอุดมคติ ฉะนั้นมันก็จะมีจุดอ่อนตรงที่เขาไม่อาจเข้าใจความเป็นจริงในทางการเมือง ดังนั้นก็หวังว่านักวิชาการที่มาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและอุดมคติทางการเมืองด้วย สองส่วนต้องไปด้วยกัน
“เขาไม่เข้าใจความเป็นจริง มันก็ทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น เอาเครื่องรถเบ๊นซ์ไปใส่ยันม่า มันไม่จริง เขาอาจบอกว่า เครื่องรถเบ๊นซ์มันดี เครื่องยันม่า มันไม่ดี เอาเครื่องรถเบ๊นซ์ไปใส่เพื่อไถนาดีกว่า ซึ่งมันไม่จริง ขณะที่นักวิชาการมองว่า เครื่องรถเบ๊นซ์มันไม่ประหยัดน้ำมัน เครื่องยันม่าประหยัดน้ำมัน ดังนั้นเอาเครื่องยันม่ามาใส่รถเบ๊นซ์ดีกว่า ซึ่งมันไม่ได้” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า นโยบายไหน หรือกฎหมายไหน หรือรัฐธรรมนูญที่ออกมาแล้ว ถ้าพรรคการเมืองเขาไม่เห็นด้วย แล้วเขาจับมือกัน เวลาเลือกตั้งเสร็จ การเมืองก็แก้กลับได้หมด สมมติว่า ดีอยู่แล้ว รัฐบาลก็บอกว่าให้ทำประชามติสิว่าดีหรือไม่ดี วัดกันไปเลยว่าดีหรือไม่
“สมมติรัฐธรรมนูญนี้ออกไปโดยไม่มีการทำประชามติ และพรรคการเมืองประกาศนโยบายว่า ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะหาเสียงว่ารัฐธรรมนูญนี้สมควรยกเลิก หรือทำใหม่หรือไม่ ก็ให้ลงมติกันเลยภายใน 3 เดือน ถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่กำลังจะร่างเนี่ย ชาวบ้านไม่เอา ไม่ผ่านการทำประชามติ ก็ต้องร่างกันใหม่ หรือแก้ไขกันใหม่ อำนาจไหนมันจะเหนือกว่าประชาชน” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า มันต้องศรัทธาในมติของมหาชน ต้องศรัทธาในประชาชนก่อน ถ้าประชาชนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เมื่อเขาไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ปฏิบัติแทนประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งเราก็ไม่อยากเข้าไปอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ต้องฟังให้เยอะ และต้องให้อุดมคติกับความเป็นจริงมีจุดสมดุลกัน โดยมีอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าอุดมคติล้วน ๆ มันก็พัง หรือเป็นความจริงอย่างเดียว มันก็ล่มเช่นกัน
อ่านประกอบ : นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ : การเมืองไม่ใช่เรื่องอุดมคติ ทุกอย่างต้องไปควบคู่กัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จาก thairath