ชาญชัย ลิมปิยากร : เทคโนโลยี กับ คำตอบพลังงานทางเลือกในชุมชน
“ถ้าเรารู้จักใช้ชีวิตพอดี จะช่วยลดการเผาผลาญพลังงาน การทำลายสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาโลกร้อนในที่สุด” เพราะสรรพสิ่งในโลกล้วนเชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ประโยคข้างต้นมิใช่เพียงนามธรรม แต่มีต้นแบบรูปธรรม จากอาศรมพลังงาน และ วิถีชีวิตของชุมชน รอบๆ
ชาญชัย ลิมปิยากร อุปนายกสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม และ ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขยายความว่า “ต้นแบบ” ที่ว่าคือ “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ใช้แหล่งพลังงานเท่าที่มีในชุมชน” เช่น ฟืน ถ่าน พืชน้ำมัน รวมถึงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ หรืออีกทางหนึ่งคือ “ลดการพึ่งพิงแหล่งพลังงานภายนอก” เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้วในอาศรมพลังงาน
วิฤตการณ์ด้านพลังงาน ที่ดำรงอยู่ทั่วโลก ทำให้คนกำลังร้องหาทางออก ถามหาความหลากหลาย ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องพยายามหาทางออก ทั้งด้วยพลังงานหลัก เช่น กาซหุงต้ม กาซธรรมชาติ เอทานอล หรือ พลังงานทางเลือกอย่างนิวเคลียร์ที่ยังคงเป็นทั้งความขัดแย้งในแนวคิดเรื่องความปลอดภัย และกรณีพิพาทกับชุมชนหลายพื้นที่อันเป็นว่าที่ทำเลที่ตั้ง กระทั่งกระแสเพิ่งตกลงจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าญี่ปุ่นระเบิดล่าสุด
อ.ชาญชัย บอกว่า “ไม่มีแผนอะไรดีที่สุด เพราะวิกฤติพลังงานไม่ขึ้นอยู่กับแผนอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคนด้วย”
ดังนั้นไม่ว่าพลังงานอะไร ถูก-แพง แค่ไหน ในอนคต หากมนุษย์ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติด้านการใช้พลังงานแล้ว การแก้ไขปัญหาก็จะทำได้เพียงระยะสั้นเท่านั้นเอง!
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สนทนากับนักเทคโนโลยีพลังงานท่านนี้ ที่ย้อนความว่า 10 กว่าปีก่อน กระแสโลกร้อน หรือ สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก ปี 2541 องค์การสหประชาชาติจัดประชุมและมีมติว่า “ควรกระตุ้นให้โลกเกิดการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต้องจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนด้านการจัดการพลังงานแก่ประเทศกำลังพัฒนา”
ประเทศเดนมาร์ก จึงเข้ามาสนับสนุนเรื่องการจัดการพลังงานในประเทศไทย ในทั้งภาครัฐ และเอกชน “สมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงพลังงานนะ แต่เรียกว่าการพลังงานแห่งชาติ ซึ่งสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็เป็นตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับคัดเลือก”
เดนมาร์กเข้ามาสนับสนุนอะไรบ้าง?....
ในต่างประเทศจะมีบทเรียนด้านพลังงานมาก่อน อย่างน้อยก็จากวิฤตการณ์น้ำมันในตลาดโลก ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว 2-3 ครั้ง ทำให้เขาตื่นตัวในเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเดนมาร์กได้นำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานกังหันลม จึงเข้ามาสนับสนุนทั้งเรื่องการวิจัยและการวางแผนด้านพลังงาน ในโครงการ “โครงการพลังงานยั่งยืนไทย-เดนมาร์ก” ซึ่งใช้เวลาเตรียมงานกันกว่า 3-4 ปี ในระยะแรกได้ทำกิจกรรมกับนักเรียน นักศึกษา เรื่องให้การให้ความรู้การจัดการพลังงาน
ระยะที่สองขยับมาทำกับองค์กรส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดอีสาน คือ ขอนแก่น สุรินทร์ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ผลักดันให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีแผนการจัดการด้านพลังงาน “หนึ่งในนั้น มีพื้นที่ๆ ประสบความสำเร็จคือ จ.สุรินทร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้หยิบขึ้นมารนำมากำหนดเป็นแผนพลังงานด้วย”
ความตื่นตัวด้านพลังงานทางเลือกในเมืองไทยเป็นอย่างไร…
ความตื่นตัวในเมืองไทยจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆตามกระแส ก่อนหน้านี้ราวปี 2526 มี USAID (องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) เข้ามาสนับสนุนรัฐบาล ก็มีการรณรงค์เรื่องพลังงาน ทำให้ตื่นตัวบ้าง แต่ยังไม่ต่อเนื่อง ประมาณว่างบประมาณหมดก็เลิกทำ อีกอย่างคนไทยถ้าไม่จนมุมก็จะไม่ตื่นตัว
บ้านเราเป็นเมืองร้อน ไม่ได้ต้องการพลังงานเท่าเมืองหนาว สมมติว่าถ้าราคาน้ำมันขึ้นจากลิตรละ 15 บาท เป็น 30 บาท ชาวบ้านก็ปรับตัวง่ายๆ คือ ไม่ใช้รถ หรือใช้ให้น้อยลง แต่ถ้าเป็นเมืองหนาว การขาดพลังงานเป็นเรื่องใหญ่มาก อาจหนาวตายได้ ฮีทเตอร์(เครื่องทำความร้อน)ที่ให้ความอบอุ่นจำเป็นมาก
“และที่สำคัญปริมาณการใช้พลังงานต่อครัวเรือนของไทยยังน้อยอยู่ ถ้าเทียบกับเมืองนอก ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะไกลตัว” ต้องรอให้เกิดวิกฤติขนาดใหญ่ก่อนคนถึงจะเริ่มทำอย่างจริงจัง
ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนสนับสนุนพลังงานทดแทนในส่วนใดบ้าง…
มีการสนับสนุนการใช้แผงโซลล่าเซลล์ในครัวเรือน แต่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังมีข้อจำกัด คือแสงมีเฉพาะกลางวัน บางวันมีแสงแดดน้อย เหมาะกับบ้านที่ใช้พลังงานไม่มาก ซึ่งชนบทก็น่าจะเพียงพอ แต่ชุมชนเมืองคงไม่เหมาะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ก็ยังมีข้อขัดแย้งกับชุมชนอยู่ ทั้งเรื่องกลิ่น และฝุ่นละออง
มีความคิดเห็นอย่างไรกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คะ…
ตอบยาก เพราะสังคมไทยมีความซับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเมือง โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทำเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ใช่ทำเพราะความจำเป็น ดังนั้นเมื่ออยากทำก็จะหาเหตุผลมารองรับ จริงอยู่ที่ความต้องการใช้พลังงานมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่การที่รัฐไม่เคยมีการควบคุมเรื่องปริมาณการใช้เลย ความต้องการก็จะเพิ่มเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด
ทางออกของปัญหาอย่างง่ายที่สุดคือ ลดการใช้พลังงานลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ถ้ากลัวว่าจะกระทบต่อจีดีพี(ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ) รัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ที่ใช้พลังงานในการผลิตน้อยลง ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง อย่าง โรงถลุงเหล็ก ในต่างประเทศเขาไม่ทำกันแล้ว จึงผลักภาระมาให้
แล้วที่มีการยกข้อดีว่า นิวเคลียร์ เป็นพลังงานสะอาด?…
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาก ซึ่งจริยธรรมของสังคมไทยยังไม่เพียงพอต่อเทคโนโลยีดังกล่าว ดูง่ายๆ จากกรณีมาบตาพุดจะเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่จริยธรรมของคนในสังคม เพราะระบบการเมือง และระบบอุตสาหกรรมในบ้านเรายังไม่มีความพร้อม โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา
ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์มาโดยตลอด ประกาศแล้วว่าจะเลิกใช้นิวเคลียร์ หลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์สึนามิ ส่วนเยอรมันก็ประกาศว่าจะยุติ แต่ประเทศไทยที่ยังไม่เคยมีไม่เคยใช้มาก่อนกลับอยากจะมี ผมว่ามันก็ดูแปลกๆ
ต่อไปภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เริ่มมีมากขึ้น และประชาชนก็เริ่มหวาดกลัวถึงผลกระทบ จะทำให้ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องความปลอดภัยจะสูงขึ้น และถ้าจะทำตอนนี้ แหล่งเงินทุนเขาก็จะต้องเห็นอนาคตของธุรกิจที่สดใสจึงจะกล้ามาลงทุน จะเห็นว่าทั้งเรื่องความปลอดภัย และความคุ้มค่าการลงทุน ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีโอกาสเกิดขึ้นยาก
แล้วทางออก หรือแผนพลังงานในบ้านเราควรเป็นอย่างไร?...
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แผนพลังงาน… อยู่ที่พฤติกรรมมนุษย์ พลังงานทดแทน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีคิด และพฤติกรรมการใช้พลังงาน
สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม เริ่มมาอย่างไรบ้าง?...
ผมเป็นพวกคิดกบฏ ไม่อย่างนั้นคงนั่งกินเงินเดือนหลักแสนในกระทรวงไปแล้ว (หัวเราะ)
ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ชักชวนเพื่อนๆ อาจารย์ นิสิต และกลุ่มวิศวรมาร่วมกันทำงานวิจัยและฝึกอบรม เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อสังคม เช่น เครื่องเจาะน้ำบาดาล ถังเก็บน้ำซิเมนต์เสริมไม้ไผ่ กังหันลม เริ่มจากเป็นชมรม แล้วก็จดทะเบียนเป็น “สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม” Appropriate Technology Association (ATA) ปี 2525 ซึ่งในที่นี้ คือ “เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน ชุมชนสามารถควบคุมได้ และมีราคาที่คุ้มค่า”
ปัจจุบันเรามี “อาศรมพลังงาน” ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นฐานการเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมีกลุ่มชาวบ้านมาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปเป็นแนวทางแผนพลังงานในชุมชน
มีงานอะไรบ้างในอาศรมพลังงาน?...
จากเรื่องพลังงานยั่งยืน ระยะหลังเราเริ่มขยับมาทำงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น เพราะแก๊สเรือนกระจกตัวการสำคัญก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว เกิดมาจากการใช้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั่วโลกก็เริ่มตื่นตัวกันแล้ว แต่ในเมืองไทยยังเกิดผลกระทบมากเท่าไหร่ ถือว่าเราเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่เริ่มตระหนักถึงและทำอย่างจริงจัง โดยเอาเรื่องพลังงานมาเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ทำงานความคิดกับคนด้วย ซึ่งเป็นการปรับวิถีชีวิต และการทำงานควบคู่กัน
ในอาศรมฯ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชน้ำมันเพื่อใช้ผลิตพลังงานเอง และทำวิจัยส่วนหนึ่ง เช่น ปาล์ม สบู่ดำ ฯลฯ และเน้นการใช้แหล่งพลังงานในท้องถิ่น ลดการพึ่งพาจากข้างนอก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานอื่นๆ เช่น อาคารประหยัดพลังงาน ที่เน้นรับแสงสว่างจากธรรมชาติ ช่องเปิดรับลมและระบายอากาศได้
และเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง เตาเผาถ่าน 200 ลิตร ซึ่งส่วนใหญ่เน้นให้ชุมชนที่มาเรียนรู้ได้เห็นว่า มันเกิดผลดีอะไรกับเขาบ้าง อย่างแรกๆ เลยคือการประหยัดพลังงานคือประหยัดเงินในกระเป๋า ชาวบ้านก็ให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว
ฟังดูแล้ว ค่อนข้างสวนทางกับกระแสสังคมปัจจุบัน…
เป็นเรื่องที่ใครก็ทำได้ แต่ต้องเปลี่ยนจากพฤติกรรม ต้องเข้าใจก่อนว่า เรามีแหล่งพลังงานที่น้อยลง ต้องปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้ยังไม่เกิดปัญหา แต่หากเรามองย้อนกลับดูประวัติศาสตร์จะพบว่า จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติทุก 10 – 20 ปี ตอนนี้ในเมืองไทยอาจยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ในอนาคตเป็นไปได้ว่าจะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรทุกพื้นที่ เพราะมีน้อยลงแต่คนยังไม่ตระหนักถึงปัญหา
และปัจจุบัน มีโครงการอะไรบ้างคะ?,..
ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการลดภาวะโลกร้อนและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ให้กับโรงเรียนใน จ.ขอนแก่น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กตื่นตัวเรื่องพลังงาน โดยเน้นเรียนรู้และศึกษาดูงานจากของจริง แล้วจัดนิทรรศการเผยแพร่กับโรงเรียนเครือข่าย ซึ่งทางโรงเรียนก็มีความสนใจจะผลักดันให้เป็นหลักสูตรชุมชนระยะยาวต่อไปด้วย
แนวโน้มเรื่องพลังงานยั่งยืนในอนาคตเป็นแบบไหนคะ
ตอนนี้ ทุกประเทศเริ่มหันมาสนใจแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสใหม่ คือ เรื่องพลังงานกลายเป็นส่วนย่อยของเรื่องโลกร้อนไปแล้ว ซึ่งทำให้พลังงานทดแทนยังมีความจะเป็นต่อชุมชนอยู่ จากที่เคยเน้นเรื่องการลดใช้พลังงาน แต่การการลดคาร์บอนจะเป็นตัวชี้วัดใหม่ตามกระแสโลก
สมาคมจึงได้วางแผนจะทำ “โครงการคาร์บอนชุมชน” เน้นชุมชน ที่มีการจัดการป่า โดยใช้ 3 หลักการ คือ 1.ใช้ป่าเก็บคาร์บอน เพราะต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนมาสร้างเนื้อไม้ เรียกกระบวนการนี้ว่า แก๊สเรือนกระจกคงคลัง 2.ลดการปล่อยคาร์บอนเนื่องจากพฤติกรรม และการใช้ชีวิต เช่น การใช้ปุ๋ย การใช้เครื่องยนต์ 3. เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการฟื้นฟูป่า
ซึ่งทั้ง 3 หลักการนี้ จะช่วยให้เกิดการจัดการที่ดินและป่า และการจัดการชุมชนในการใช้พลังงานที่ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยจะดำเนินการเป็นแผนระยะยาว 5 ปี ใน 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ 1. ต.เขาคอก บ.บุรีรัมย์ 2.ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ 3.คลองเปียง จ.สงขลา และ 4.บ้านสันติสุข ซึ่งอยู่ในช่วงการวางแผนงาน จะดำเนินการได้อีก 1-2 ปีข้างหน้า .