กรมการข้าว ชง คสช.ตั้ง ‘กองทุนพัฒนาข้าวฯ’ สร้างมั่นคงให้ชาวนา
กรมการข้าวเตรียมชง คสช.ตั้งกองทุนพัฒนาข้าวฯ หวังสร้างอาชีพชาวนายั่งยืน ‘สมพร’ เชื่อข้อเสนอเก็บค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก 1% ช่วยบริหารจัดการคล่อง แนะสร้างระบบสวัสดิการต้องไม่ซ้ำซ้อน ยกระดับศูนย์ข้าวชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้
วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 กรมการข้าว จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ’ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ มีหลักเกณฑ์จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อเก็บออมเงินจากรายได้ของชาวนาไว้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเบื้องต้นกรมการข้าวเสนอให้มีการหักรายได้ชาวนาร้อยละ 3 ต่อปี ภาครัฐสนับสนุนเงินสมทบ โดยเมื่อเกษียณอายุ 65 ปี จะได้รับเงินจากการเก็บสะสมไว้เดือนละ 4,000-5,000 บาท ทั้งนี้ ต้องเป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า 15 ปี และให้สิทธิสมาชิก 1 คน ต่อครัวเรือน
“เมื่อปี 2554 กรมการข้าวเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนาแก่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แล้ว แต่เนื่องจากติดปัญหาทางการเมืองจึงยังไม่ได้รับการพิจารณา” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว และว่าเมื่อเสร็จสิ้นจากการรวบรวมความคิดเห็นครั้งนี้จะเสนอต่อที่ประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ด้านรศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงข้อเสนอของสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนาไทยเกี่ยวกับการวิจัย โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกร้อยละ 1 จากเดิมที่เก็บภาษี หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 0.75 หากขับเคลื่อนต่อไปได้ กองทุนจะมีความยั่งยืนในระดับการบริหารจัดการ เพราะมีเงินไหลเข้าและออก ซึ่งเป็นแนวคิดของภาคธุรกิจที่อยากเห็นชาวนามีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้มีข้อเสนอหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายเชื่อว่า คสช.จะตัดสินใจได้
“ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติของกรมการข้าวอาจยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของงบประมาณเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจ” นักวิชาการอาวุโส กล่าว และว่าพืชเศรษฐกิจหลักล้วนมีการจัดตั้งกองทุน เช่น กองทุนอ้อยเเละน้ำตาล กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และกองทุนวิจัยเเละพัฒนามันสำปะหลัง ขณะที่ ‘ข้าว’ เคยผลักดันต่อกขช. ให้เกิดขึ้นแล้ว
ส่วนทำอย่างไรให้อาชีพทำนาอยู่รอดได้ รศ.ดร.สมพร ระบุว่า จะต้องเสริมสร้างศักยภาพชาวนา โดยให้ชุมชนเป็นหลักสำคัญของกำลังการผลิต สร้างตลาดรองรับ และส่งเสริมให้ศูนย์ข้าวชุมชนกลายเป็นศูนย์กลางเรียนรู้สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีคนในชุมชนที่มีความรู้มากและสามารถรวมตัวขยายเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ แต่ไม่ใช่ให้ศูนย์ข้าวชุมชนมีหน้าที่เฉพาะเป็นแหล่งผลิตข้าวสายพันธุ์ดีและกระจายออกไปเท่านั้น รวมถึงต้องสร้างระบบสวัสดิการชาวนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น
นายอัษฎางค์ สีหาราช เกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ ฉบับกรมการข้าวว่า มีสัดส่วนเกษตรกรเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากภาครัฐ พร้อมกันนี้ไม่ควรจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ควรนำข้าวของเกษตรกรแปลงเป็นสินทรัพย์ได้ด้วย เพื่อจะได้เป็นกองทุนสวัสดิการของชาวนาจริง ๆ
ขณะที่นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาชีพชาวนาไทยไม่มีความมั่นคง เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ โดยเชื่อว่าการออก พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติจะเป็นเสาหลักให้กับอาชีพชาวนาได้ในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กองทุนพัฒนาข้าวและชาวนาแห่งชาติ (กขชช.) ฉบับร่างของกรมการข้าว เป็นหน่วยงานรัฐ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและให้เงินทุนหมุนเวียนในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนา เพื่อพัฒนาอาชีพชาวนาให้มั่นคงและยั่งยืน
สำหรับแหล่งที่มาของงบประมาณมาจากรัฐบาลสนับสนุนในปีแรก 1 หมื่นล้านบาท (คำนวณร้อยละ 5 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่ชาวนาผลิตได้ปีละ 30 ล้านตัน ณ ราคาขาย) และการอุดหนุนงบประมาณประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 พันล้านบาท (คำนวณร้อยละ 3 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่ชาวนาผลิตได้ปีละ 30 ล้านตัน)
นอกจากนี้คณะกรรมการบริหาร กขชช.จะมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้แทนชาวนาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพียง 3 คน จากสัดส่วนทั้งสิ้น 17 คน .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพนธ์' ค้านตั้งกองทุนช่วยชาวนาจากการเก็บค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก
หอการค้าไทยชง "ยุทธศาสตร์ข้าว" เสนอ คสช.เน้นปฏิรูปทั้งระบบ
ภาพประกอบ:newprobiotech.com