“วิษณุ-พรเพชร”ร่ายยาวรธน.ชั่วคราว-อำนาจคสช.ไม่ได้ล้นฟ้าอย่างที่คิด
“…คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบาด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย เพื่อ ครม. ไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจสอดแทรกเข้ามาในช่วง 1 ปีนี้ เรื่องอย่างนี้ คสช. จะได้รับดำเนินการ และสร้างความสมานฉันท์ปรองดองสามัคคี อย่างไรก็ตามเพื่อให้ คสช. มีอำนาจจัดการเรื่องต่าง ๆ ในเรื่องความจำเป็นสุดขีด ไม่จำเป็นต้องหาวิธีอื่นนอก รธน. จึงได้กำหนดในมาตรา 46 คสช. อาจใช้อำนาจพิเศษ ที่สื่อมวลชนอาจอ่านเข้าใจผิดว่า คสช. มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นั้นไม่จริง…”
หมายเหตุ : เป็นการแถลงข่าวฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 นำโดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายพรเพชร วิชิตรชลชัย ที่ปรึกษา คสช. และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.
----
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวเปิดงานว่า ตามที่มีพระบรมราชโองการพระราชทาน รธน.ชั่วคราว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นไปตามที่ หัวหน้า คสช. ได้เรียนชี้แจงประชาชนไว้แล้วว่า ภายในเดือนกรกฎาคมจะมีรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานในขั้นที่ 2 ของ คสช. ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ผมพร้อมด้วย นายพรเพชร และนายวิษณุ มาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องความเป็นมา และเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
นายพรเพชร วิชิตรชลชัย กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะได้มาพูดถึงสิ่งที่ประชาชนคนไทยให้ความสนใจในขณะนี้ หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนผม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาทเพื่อรับ รธน.ชั่วคราว ที่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย
รธน.นี้ถึงเป็นฉบับชั่วคราว แต่ความรู้สึกแรกก็คือ บ้านเมืองของเรากำลังมีกฎกติกาที่แน่นอน เป็นหลักกฎหมาย ที่เรียกว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ เรียกได้ว่าบ้านเมืองของเราเป็นนิติรัฐ เป็นรัฐที่ยึดถือกฎหมายเป็นกติกาที่อยู่ร่วมกับของประชาชน กับองค์กรที่ใช้ประชาธิปไตย
ความรู้สึกต่อมาคือความชัดเจนของการพัฒนาการเมืองว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด ที่จะนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกว่าโร้ดแม็พ หรือพูดในรูปหนึ่งคือการปฏิบัติตามพันธสัญญาของ คสช. ที่จะดำเนินการอย่างไร ด้วยวิธีการและรูปแบบอย่างไร และกำหนดระยะเวลาอย่างไร ดังเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการยกร่าง รธน.ฉบับถาวร ที่เขียนไว้ในฉบับนี้อย่างละเอียด ดังนั้น รธน.ชั่วคราว ย่อมสร้างความเชื่อมั่น ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นไปสู่จุดหมายของประชาธิปไตยภายในกำหนดเวลาที่ชัดเจน
ความรู้สึกเหนือสิ่งอื่นใด ที่ผมสัมผัสได้เมื่อเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน รธน. แก่หัวหน้า คสช. ก็คือ ความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าอยู่ใต้ปกครอง รธน.ฉบับใด ฉบับถาวร หรือชั่วคราว แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด แม้ รธน.เขียนว่า พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นยิ่งกว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ทราบว่าท่านผู้มีเกียรติรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ เมื่อเห็นภาพพระราชทาน รธน. ผมในฐานะคนไทย รู้สึกอบอุ่นและมั่นคงว่า เราอยู่ใต้ปกครองที่มีพ่อของแผ่นดินอยู่
ถ้าอ่านตารางเทียบ จะเห็นว่า รธน.ชั่วคราว มีบทบัญญัติชัดเจนถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ในเรื่องต่าง ๆ ที่คนไทยต้องการให้มีพระราชอำนาจนั้น เช่น พระราชอำนาจอภัยโทษ พระราชอำนาจแต่งตั้งบุคคลต่าง ๆ เป็นต้น อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ รธน.ฉบับนี้ค่อนข้างยาวกว่าฉบับชั่วคราวอื่น ๆ เพราะเขียนมากในเรื่องพระราชอำนาจ ยืนยันในพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรื่องแรก ความเป็นมาและแนวคิดสำคัญของการยกร่าง รธน.ฉบับนี้ รธน.ฉบับนี้เกิดขึ้นจากที่ คสช. ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ผมในฐานะที่ปรึกษา คสช. เจ้าหน้าที่สำนักงานพระธรรมนูญ นักกฎหมายจากกฤษฎีกา และ คสช. ร่วมกันรับผิดชอบในการยกร่าง รธน.ฉบับชั่วคราวเพื่อใช้บังคับขึ้น เป็น รธน.ที่ยึดหลักนิติรัฐ หลักการในการยกร่างคือ คณะทำงานได้เข้าปรึกษา และขอความเห็นชอบในประเด็นสำคัญของ รธน. จากหัวหน้า คสช.
นอกจากนั้น ได้เข้าปรึกษาจากคณะที่ปรึกษาของ คสช. ซึ่งมี นายวิษณุ เป็นที่ปรึกษาด้วยคนหนึ่ง เมื่อยกร่างเสร็จแล้วในชั้นแรก ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง ซึ่งสำนักงานคณะกรรรมการฤษฎีกา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ พิจารณาร่วมกับเรา ได้ตรวจแก้ร่างแล้วเสร็จ พร้อมกันนั้น เนื่องจากมีการแต่งตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ร่วมยกร่างว่าด้วยการ สรรหา สปช. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ต้องออกตาม รธน.ชั่วคราว ด้วย
เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้เสร็จแล้ว ส่งเรื่องมา เข้าสู่ทีประชุม คสช. และได้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อย จากนั้นได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ รธน.ชั่วคราว และให้หัวหน้า คสช. นำร่าง รธน. ขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อลงพระปรมาภิไธย ส่วนร่างกฤษฎีกาว่าสรรหา สปช. จะเริมเมื่อใช้ รธน.ฉบับนี้แล้ว
รธน.นี้ร่วมกันทำกับผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับความเห็นชอบในหลักการที่สำคัญของ รธน. และทีมงานจะได้ยกร่างตามเจตนารมณ์และยึดหลักของกฎหมาย
ประเด็นต่อไป เนื้อหา รธน. อยากให้ดูที่ตารางโครงสร้างของ รธน. ซึ่งจะเห็นได้ว่า รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ จัดโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ ไว้ชัดเจน องค์กรแรกคือพระมหากษัตริย์ จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ แม้ คสช. จะให้คงบทบัญญัติของหมวด 2 ของ รธน.ฉบับปี 2550 บังคับใช้อยู่ แต่ รธน.ฉบับชั่วคราว ได้เขียนให้ชัดเจนถึงพระราชอำนาจในเรื่องต่าง ๆ เช่น พระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตย ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และศาล พระราชอำนาจที่สำคัญคือยับยั้งร่างกฎหมาย และพระราชอำนาจการทำสัญญากับนานาประเทศ นอกจากนั้นยังมีพระราชอำนาจอื่นตามที่กำหนดในประเพณีการปกครองของไทย โดยองคมนตรีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ที่คงไว้เช่นเดิม
องค์กรต่อไปคือ สนช. ทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือ การออกกฎหมายเป็นหน้าที่ขององค์กรนี้ สนช. มีไม่เกิน 220 คน รธน. กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ที่คัดเลือกบุคคลภาคต่าง ๆ และนำรายชื่อทูลเกล้าแต่งตั้ง ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ครั้งนี้ รธน.ชั่วคราว กำหนดคุณสมบัติไว้หลายประการและลักษณะต้องห้าม แตกต่างจาก รธน.ชั่วคราวฉบับก่อน
ส่วน ครม. ก็คงรูปแบบเดิมที่มีอยู่ใน รธน. ทุกฉบับ คือมีนายกฯ และครม. ไม่เกิน 35 คน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามก็เช่นเดียวกัน
ส่วน คสช. นั้น รธน.ชั่วคราวบัญญัติให้ยังคงไว้อยู่ต่อเพื่อดูแลตามวัตถุประสงค์ของ คสช. คือ ในเรื่องของความมั่นคง ดูแลให้ประเทศชาตินั้นเดินไปได้ ดูแลในเรื่องปฏิรูป ปรองดอง เพื่อที่กระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่านิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ดำเนินไปได้ โดยจำนวนสมาชิกอาจเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกิน 15 คน ที่สำคัญคือมีการทำงานร่วมกันกับ ครม. ในลักษณะของการปรึกษา การที่จะแจ้งให้ ครม. ทราบในเรื่องความเห็นที่ต้องดำเนินการ แต่ว่า คสช. ไม่ได้เข้าไปทำงานในส่วนที่เป็นของ ครม.
อำนาจหนึ่งที่ท่านสนใจมากคือ อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. นั่นคืออำนาจที่อาจจะบอกว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด บางคนพูดว่าเป็นอำนาจตามแบบมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่ผมเรียนว่ามาตรา 44 ไม่ได้แรงอย่างนั้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสงบ สร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป หากมีสิ่งใดที่รัฐบาลปกติไม่อาจทำได้ คสช. ก็อาจจะทำได้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว
องค์กรพิเศษซึ่งอยากจะพูดมาก คือ สปช. อันนี้เป็นหลักการสำคัญของ หัวหน้า คสช. เมื่อได้มอบหมายภารกิจว่า จะทำอย่างไรที่จะสนองตอบการต้องการการปฏิรูปในมิติต่าง ๆ ในด้านต่าง ๆ เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะว่าการที่จะระดมความคิดจากภาคส่วนต่าง ๆ และให้เกิดผลนั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยเวลาที่จำกัด เราคงไม่สามารถที่จะไปใช้วิธีการที่เรียกว่าให้ภาคส่วนต่าง ๆ คัดเลือกกันมา หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องใช้วิธีการสรรหา
หลักการสำคัญของสภาปฏิรูปแห่งชาติคือ ทำงานเชื่อมกับคณะกรรมาธิการร่าง รธน. โดยคณะนี้จะประกอบด้วยสมาชิก 36 คน ที่ คสช. แต่งตั้งส่วนหนึ่ง แต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการร่าง รธน. แต่คณะกรรมการร่าง รธน. จะมาจากสภาปฏิรูป 20 คน เพื่อให้สิ่งที่สภาปฏิรูปคิดและได้มานั้นมีผลนำไปสู่บทบัญญัติของ รธน. และนอกจากนั้น สิ่งที่สภาปฏิรูปคิดและต้องการจะทำ หากต้องการใช้กฎหมายก็สามารถที่จะนำไปสู่ สนช. นี่คือหลักการที่เรายกร่าง รธน. ขึ้นมา เพื่อให้มันสอดคล้องและสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่า สภาปฏิรูปทำแล้วไม่มีผลใด ๆ ขณะที่ผู้พิพากษาและศาลยังคงไว้ทุกประการ
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า บัดนี้ได้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามแผนและขั้นตอนซึ่งหัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้หลายวันก่อนหน้านี้แล้ว โดยขั้นที่ 2 ของแผนและขั้นตอน เริ่มต้นด้วยการประกาศใช้ รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เมื่อวานนี้ ซึ่งเผอิญตรงกับครบรอบ 2 เดือนนับแต่ครองอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
รธน.ฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ถ้าหากว่านับฉบับถาวร และชั่วคราว โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แต่คำว่าชั่วคราวมีความหมายในตัวว่า ให้ใช้บังคับไปพลางก่อน คาดว่าจะมีระยะเวลา 1 ปี บวกลบ เพื่อรอจัดทำ รธน.ฉบับถาวร ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ไป และเมื่อจัดทำฉบับถาวรซึ่งจะเป็นฉบับที่ 20 เสร็จสิ้น กฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบที่จำเป็น ดำเนินการเสร็จสิ้น ก็จะเข้าไปสู่ระยะที่ 3 ของแผนและขั้นตอน นั่นคือการจัดการเลือกตั้ง และคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับสู่ประเทศชาติ โดยมีความเชื่อว่าช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้ไป จะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาอยู่ และเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
ความจำเป็นในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไปคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่อุตส่าห์ลงแรงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เสียของหรือสูญเปล่า เพราะเหตุนี้เอง ใน รธน.ฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างที่อาจเข้มงวด หรืออาจพะรุงพะรัง อาจจะดูว่ายุ่งยาก แต่ก็จำเป็น บางเรื่อง นายพรเพชร ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว
ถ้าลงสู่รายละเอียดให้มากขึ้น คือ รธน.ฉบับนี้ เป็นเหมือนกับต้นธาร หรือต้นสายแม่น้ำ อีก 5 สาย ที่จะหลั่งไหลพรั่งพรูนับแต่นี้เป็นต้นไป
แม่น้ำหรือแควหรือธารสายที่ 1 ที่แยกจาก รธน.ไปในเวลาไม่นาน คือการเกิด สนช. โดยจะเป็นเหมือนสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติในอดีต มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะของ หัวน้า คสช. นั่นแปลว่า หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้พิจารณาเลือกสรรเอง
สมาชิกทั้ง 220 คนนี้ ไม่มีการสมัคร จึงเป็นเรื่องที่หัวหน้า คสช. จะพิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลหลายอย่าง และตอนนี้จัดทำเรียบร้อยแล้ว คือทำฐานข้อมูล เช่น ครอบคลุมสาขาอาชีพ พื้นที่ภูมิภาค เพศ วัย คุณสมบัติสำคัญของคนจะเป็นสมาชิก สนช. เบื้องต้นคือ มีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย จะต้องเป็นผู้ที่ไม่คยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง หมายถึงดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง คือไม่ขัดข้องที่ตั้งนักการเมืองในอดีต
สมาชิก สนช. มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 ประการ 1.อำนาจในการออกกฎหมาย เหมือนกับ ส.ส. ส.ว. ในอดีตนั่นเอง อำนาจนี้รวมถึงอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลต้องออกไปเร่งด่วน และอำนาจให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาและหนังสือสำคัญที่กับต่างประเทศ 2.อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี แปลว่า การแต่งตั้งและถอดถอนนายกฯอยู่ในอำนาจของ สนช ส่วนจะเลือกจากผู้เป็นสมาชิกหรือภายนอกก็แล้วแต่ สนช. จะพิจารณากันเอง ไม่มีข้อกีดกันหวงห้ามแต่ประการใด
3.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจำกัดเพียงแค่ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี แต่ไม่รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ามีปัญหาสงสัยทำงาน ก็อาจเชิญรัฐบาลมาสอบถาม หรืออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ และ 4.อำนาจในการให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมาสภา เช่น ให้บุคคลดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น โดย สนช. เป็นองค์กรที่จะเกิดขึ้นก่อนองค์กรใดต่อจากนี้ไป
แม่น้ำที่ 2 คือ ครม. ประกอบด้วย นายกฯ 1 คน และ ครม. ไม่เกิน 35 คน รวมไม่เกิน 36 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเดิม ครม. จะแต่งตั้งจากใครก็ได้ เนื่องจากเห็นเหตุผลว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นประมาณเพียง 1 ปี จึงควรเปิดทางให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นปกติตามเคยปฏิบัติที่ผ่านมา
อำนาจ ครม. ที่เคยรู้มาตลอดคือการบริหารราชการแผ่นดิน ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างเวลาที่เรียนว่า ไม่ปกติ และต้องการขจัดสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเสียของ หรือสูญเปล่า จึงได้กำหนดครั้งแรกให้ ครม. มีอำนาจเพิ่ม 2 อย่าง คือ อำนาจที่ 2 เป็นหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ไม่ว่า ครม. ดำริเอง หรือมีข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือใครก็ตามที่เชิญเข้ามาปฏิรูปได้ทั้งสิ้น ไม่จำกัดเป็นอำนาจผู้ใด แต่กำหนดเป็นอำนาจของ ครม ถือเป็นคนละส่วนของบริหารแผ่นดิน และอำนาจที่ 3 และเป็นหน้าที่ด้วยคือ การที่จะต้องสร้างความสามัคคีปรองดองสมาฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และถือเป็นพันธกิจที่ ครม. ต้องปฏิบัติ
แม่น้ำที่ 3 ที่แยก รธน.นี้ คือ สปช. มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา ซึ่งจะแบ่งออกเป็น มาจากจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ 77 วัน จึงมี 77 คน จังหวัดละ 1 คน โดยสรรหามาจากแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหา 1 ชุดใน 1 จังหวัด และหาคนที่มีความเหมาะสม เข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดละ 1 คน โดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช. คัดเลือกจนเหลือ 1 คน
ส่วนที่เหลืออีก 173 คน ถือว่ากระจายจากทั่วประเทศ ไม่ได้ผูกพันพื้นที่ใด แต่ผูกพันกับด้านต่าง ๆ 11 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน นอกจากนั้นก็ยังมี ด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จมี 11 ด้าน มีคณะกรรมการสรรหาประจำด้านละ 1 ชุด ส่วนคนเป็นคณะกรรมการสรรหา จะไม่มีโอกาสได้รับเลือกเป็น สภาปฏิรูปฯ
ทั้งนี้ การสรรหา 173 จากทั่วประเทศ จะไม่มีสอดส่ายสายตาจากที่ไหน แต่ใช้วิธีเสนอชื่อเข้ามา ห้ามสมัคร แต่ต้องมีองค์กรนิติบุคคล สถาบันการศึกษา หรือวัด ก็เปิดโอกาสให้เสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน เพื่อจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด และเลือกเฟ้นแต่ละด้านไม่เกิน 50 คน รวมแล้วก็ 50 คูณ 11 ก็ได้รายชื่อ 550 คน ส่งไป คสช. ที่จะเลือกแต่ละด้านให้เหลือจำนวน 173 ไปรวมกับ 77 คน เป็น 250 คน
อำนาจหน้าที่สมาชิก สปช. คือ 1.การเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เสนอแล้วปฏิบัติได้เลยไม่ต้องรอกฎหมายมารองรับ ก็ส่งไปที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง หรือ คสช. จะรับดำเนินการตามนั้น ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมาย ก็จะขอให้สมาชิก สปช. ยกร่างกฎหมายและเสนอ สนช. และการให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ที่มีคณะกรรมาธิการไปยกร่างจัดทำขึ้น
แม่น้ำสายที่ 4 คือคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ที่มี 36 คน มาจากสมาชิก สปช. เสนอ 20 คน สนช. 5 คน มาจากที่ ครม. เสนอ 5 คน และ คสช. เสนอ 5 คน แต่ คสช. จะเสนอคนเป็นประธานยกร่างด้วยอีก 1 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ เรียกว่า คณะกรรมการธิการยกร่าง รธน. มีอำนาจมาก
ทั้งนี้ คนเป็น สปช. ไม่มีข้อห้ามว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรค หรือจะมาเป็นไม่ได้ ไม่ห้าม มาเป็นได้ทั้งสิ้น อายุลดเหลือ 35 ปีอย่างน้อย เพราะการปฏิรูปเป็นงานของประเทศ พยายามให้มีข้อจำกัดน้อยที่สุด
แต่พอมาถึงคณะกรรมาธิการยกร่าง ต้องแข่งกับเวลา 120 วัน ต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จจะมีบทลงโทษ คณะกรรมมาธิการฯต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปีก่อนย้อนหลัง คือพยายามเอาคนปลอดการเมืองมาร่าง และห้ามคนดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ มาอยู่ในกรรมาธิการยกร่าง และคุมเรื่องอนาคตคือ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคตไม่ได้ในอีก 2 ปี ฉะนั้นคนจะเป็นนอกจากมีความรู้ความสามารถแล้ว จะต้องเสียสละเป็นพิเศษที่จะทำหน้าที่นี้ เมื่อร่างเสร็จจะไปให้ สปช. เห็นชอบ แต่ก่อนหน้านี้อาจแก้ไข หรือแปรญัตติ
และเพื่อป้องกันให้คณะกรรมาธิการฯยกร่างตามใจชอบแบบพิสดาร จนกระทั่งกล่าวหาว่าเสียของหรือสูญเปล่า รธน.ชั่วคราว จึงกำหนดกรอบไปด้วย และคณะกรรมาธิการต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.กรอบที่ สปช. ให้ไปตั้งแต่ต้น 2.กรอบที่ รธน. ที่ประกาศใช้เมื่อวานฝากไว้ในมาตรา 35 โดยกำหนดว่า รธน. ที่ร่างใหม่ อย่างน้อยต้องกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น ความเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข การป้องกันขจัดทุจริต และคนที่เคยประพฤติทุจริตเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคต 3.กำหนดหลักการที่ฝากไว้ด้วยว่า มาตรการป้องกันไม่ให้นำงบประมาณแผ่นดินมาใช้มุ่งหาเสียง หรือหาประโยชน์ใส่ตน โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ และ 4.ฝากมาตรการอื่นอีกที่จะต้องเขียน รวมทั้งทบทวนความจำเป็นว่าควรใส่เรื่ององค์กรอิสระใน รธน. เพราะที่ผ่านมาอาจมีบางองค์กรไม่จำเป็น อาจออกเป็นกฎหมายธรรมดาก็พอ เรื่องอย่างนี้ต้องให้คณะกรรมาธิการไปทบทวน
แม่น้ำสายสุดท้าย สายที่ 5 คือ คสช. เอง ซึ่ง รธน. กำหนดให้คงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวน 6 – 7 เพิ่มไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่มีเพียงแค่ 1.เสนอแนะให้ ครม. ปฏิบัติในเรื่องใด ถ้า ครม. พิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ 2.ขอเชิญ ครม. ประชุมร่วมกันเพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นแบบแผนใน รธน. ชั่วคราวที่ผ่านมา
ไม่มีที่กำหนดให้ คสช. มีอำนาจปลดนายกฯ หรือ ครม. ดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีกำหนดให้พี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยแก่ ครม. ไม่มีที่ใดกำหนดให้บังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการประจำใด ๆ ทั้งสิ้น
เพียงให้ คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบาด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย เพื่อ ครม. ไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจสอดแทรกเข้ามาในช่วง 1 ปีนี้ เรื่องอย่างนี้ คสช. จะได้รับดำเนินการ และสร้างความสมานฉันท์ปรองดองสามัคคี อย่างไรก็ตามเพื่อให้ คสช. มีอำนาจจัดการเรื่องต่าง ๆ ในเรื่องความจำเป็นสุดขีด ไม่จำเป็นต้องหาวิธีอื่นนอก รธน. จึงได้กำหนดในมาตรา 46 คสช. อาจใช้อำนาจพิเศษ ที่สื่อมวลชนอาจอ่านเข้าใจผิดว่า คสช. มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นั้นไม่จริง มีเพียงอำนาจพิเศษตามมาตรา 46 หากจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อสร้างสรรค์ ก็อาจใช้อำนาจได้ โดยคณะที่ยึดอำนาจก็ปรากฏอำนาจเช่นนี้ในทุกยุค และใช้ในยามที่ใช้ในยามปกติไม่ได้เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้วิธีการอื่นใดนอก รธน. อีก
ทั้งหมดคือลำธาร 5 สายที่แยกออกไปจาก รธน. มีประโยคสำคัญที่ต้องกราบเรียน แน่นอน รธน.ชั่วคราว มี 48 มาตรา แต่ก็ถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับ รธน.ถาวร หลายคนบอกว่า จะเพียงพอ หรือไม่ รวมถึงสิ่งที่เราเคยเขียน มาตรา 7 เราก็เอามาเขียนไว้อีกด้วยเช่นกัน หลายคนฟังแล้วก็คิดว่า มาตรา 7 มาอีกแล้ว เพราะที่ยุ่งในอดีตไม่ใช่เพราะมาตรา 7 หรอหรือ เราก็รู้ว่ายุ่ง แต่ไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเกิดช่องว่าง
คราวนี้ถ้าเรื่องใดเป็นประเพณีหรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรธน. ปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้า ศาลรธน. บอกเป็น ก็ทำได้ แต่ถ้าศาลบอกทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ
และที่นายพรเพชรชี้แจงว่า หลายอย่างไม่ได้อยู่ใน รธน.นี้ ศาล ยังอยู่ไหม ก็ยังอยู่ไปตามปกติ องค์กรอื่นเช่น กกต. ป.ป.ช. ยังอยู่หรือไม่ ก็ยังอยู่ไปตามปกติ เว้นแต่องค์กรที่ คสช. ประกาศก่อนหน้านี้เลิกไปแล้ว อันไหนไม่ได้พูดถึงก็ทำหน้าที่ปกติจนกว่า รธน. ใหม่จะกำหนด
สุดท้าย รธน.ฉบับถาวร ที่จะไปร่างกันนั้น จะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ใน รธน.ฉบับนี้ ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดทาง จะพิจารณากันได้ในอนาคต
เมื่อใดที่ รธน. ฉบับนี้มีปัญหาควรแก้ไขแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว ครม. และ คสช. เสนอ สนช. เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่อง หรือควรจะมี แม้จะเป็นฉบับชั่วคราวก็แก้ไขได้ในอนาคต เพื่อยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้บริหารราชการแผ่นดิน และลำธาร 5 สายสามารถไหลได้คล่อง สามารถดำเนินการได้โดยไม่สะดุด เพราะสะดุดที่จุดไหนก็จะแก้ไขกันไป
สุดท้าย ลำธาร 5 สายจะอยู่นานถึงเมื่อใด ตัว รธน. ฉบับนี้ก็อยู่จนมี รธน. ใหม่ก็ต้องเลิก สนช. จะอยู่ไปจนกระทั่งวันที่มีเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมัยหน้า สนช. ก็เลิก ด้าน ครม. จะอยู่ไปจนกระทั่งถึงเมื่อมี ครม. ชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อ ส่วน สปช. จะอยู่จนถึง รธน. ฉบับใหม่ร่างเสร็จและเขียนเกี่ยวกับ สปช. อย่างไรก็เป็นไปตามอย่างนั้น อาจเขียนให้ สปช. ยังอยู่ หรือไม่ให้อยู่เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้ ส.ส. ก็ได้
ด้านกรรมาธิการยกร่างจะเสร็จเมื่อใด เมื่อ รธน.ใหม่ประกาศใช้ กรรมาธิการก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช. อยู่เมื่อใด โดยหลักหากประกาศ รธน.ฉบับใหม่ คสช. ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้ก็คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นเป็นต้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี บวกลบ
อ่านประกอบ : “วิษณุ”ยันคสช.ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ-ครม."รธน.ถาวร"ไร้ฝ่ายการเมืองร่าง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก dailynews