“วิษณุ”ยันคสช.ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ-ครม."รธน.ถาวร"ไร้ฝ่ายการเมืองร่าง
คสช.แถลงข่าว รธน.ชั่วคราว “วิษณุ” นั่งร่ายยาวเปรียบ รธน.เหมือนแม่น้ำ 5 สาย จัดตั้ง สนช. อันดับแรกไว้แต่งตั้งนายกฯ ต่อมาตั้ง ครม.เพิ่มหน้าที่ปฏิรูป-ปรองดอง ตั้ง สปช. ให้ปฏิรูป-ความเห็นร่าง รธน.ถาวร ตั้งกรรมาธิการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ ห้ามฝ่ายการเมืองร่วม ท้ายสุดเพิ่มอำนาจพิเศษ คสช. ป้องกันใช้วิธีนอก รธน. ยันไม่มีอำนาจปลดนายกฯ-เป็นพี่เลี้ยง ครม. – สงสัยมาตรา 7 ส่งศาลรธน.ตีความ องค์กรอิสระอยู่ครบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายพรเพชร วิชิตรชลชัย ที่ปรึกษา คสช. นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ร่วมกันแถลงข่าวฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามแผนและขั้นตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้หลายวันก่อนหน้านี้ เริ่มต้นด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยนับเป็น รธน.ฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งคาดว่าจะมีระยะเวลากำหนดใช้ประมาณไม่เกิน 1 ปี เพื่อรอจัดทำ รธน.ฉบับถาวร ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ และเมื่อจัดทำ รธน.ฉบับถาวรแล้วเสร็จ ก็จะเข้าไปสู่ระยะที่ 3 ของแผนและขั้นตอนของ คสช. คือการจัดการเลือกตั้ง และคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับสู่ประเทศชาติ เพื่อจัดการกับปัญหาที่ค้างคาอยู่ และเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
“ความจำเป็นในช่วง 1 ปีนับจากนี้ คือทำอย่างไรไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่อุตส่าห์ลงแรงไปในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมาสูญเปล่าหรือเสียของ เพราะเหตุนี้ใน รธน.ฉบับนี้ จำเป็นต้องวางหลักการบางอย่างที่อาจเข้มงวดหรือพะรุงพะรัง อาจดูว่ายุ่งยากแต่ก็จำเป็น” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า รธน.ชั่วคราวฉบับนี้ เป็นเหมือนกับต้นธารหรือต้นสายแม่น้ำอีก 5 สาย ที่จะหลั่งไหลพรั่งพรูนับแต่นี้เป็นต้นไป โดยแม่น้ำสายที่ 1 ที่จะแยกจาก รธน.ฉบับนี้ ในเวลาไม่นานคือ การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสรร มีอำนาจหน้าที่ 4 ประการ คือ 1.ออกกฎหมาย 2.ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี 3.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงานของรัฐบาล และ 4.ให้ความเห็นชอบในบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมาที่สภา
นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วยนายกฯ 1 คนและ ครม.ไม่เกิน 35 คน รวมไม่เกิน 36 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเดิม และ ครม.จะแต่งตั้งใครก็ได้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ใช้เวลาระยะสั้นเพียง 1 ปี จึงควรเปิดทางให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และได้เพิ่มอำนาจ ครม.ขึ้นจากเดิม ที่บริหารรราชการแผ่นดิน ก็ต้องดำเนินการด้านปฏิรูปต่าง ๆ และสร้างความสามัคคีปรองดองสมาฉันท์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่ ครม.ต้องปฏิบัติ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม่น้ำสายที่ 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา แบ่งเป็นจังหวัดต่าง ๆ 77 คน อีก 173 คน จะใช้วิธีเปิดโอกาสให้เสนอชื่อเข้ามา โดยผูกพันกับด้านต่าง ๆ 11 ด้าน เช่น ด้านการเมือง ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศ และการให้ความเห็นชอบในร่าง รธน.ที่คณะกรรมาธิการยกร่างจัดทำขึ้น
นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 4 คือ คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. มี 36 คน มาจากสมาชิก สปช. 20 คน สมาชิก สนช. 5 คน ครม. 5 คน และ คสช. เสนอ 5 คน และ คสช. จะเสนอคนเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้วยอีก 1 คน ทั้งหมดนี้คือคณะกรรมาธิการร่าง รธน. ซึ่งมีอำนาจมาก โดยจะใช้ระยะเวลา 120 วัน หากเสร็จไม่ทัน จะมีบทลงโทษ และคณะกรรมาธิการต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ย้อนหลัง โดยพยายามเอาคนปลอดการเมืองมาร่าง และห้ามคนดำรงตำแหน่งมาองค์กรอิสระต่าง ๆ มาอยู่ในคณะกรรมาธิการ หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการทั้ง 36 คนจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 2 ปี ภายหลังร่าง รธน.แล้วเสร็จ เมื่อร่างเสร็จแล้วส่งไปให้ สปช. เห็นชอบ
“และเพื่อป้องกันไม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างตามใจชอบแบบพิสดาร จนกระทั่งถูกกล่าวหาว่าเสียของ รธน.จึงกำหนดกรอบไปด้วยว่า คณะกรรมาธิการต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.กรอบที่ สปช.ให้ไปตั้งแต่ต้น 2.กรอบที่ รธน.ชั่วคราวประกาศใช้ในมาตรา 35 3.กำหนดหลักการป้องกันไม่ให้นำงบประมาณแผ่นดินมาใช้มุ่งหาเสียง และ 4.ฝากมาตราอื่นอีกที่จะต้องเขียน รวมทั้งทบทวนความจำเป็นว่าควรใส่เรื่ององค์กรอิสระใน รธน. เพราะที่ผ่านมาอาจมีบางองค์กรไม่จำเป็น อาจออกเป็นแค่กฎหมายธรรมดาก็พอ เรื่องอย่างนี้ต้องให้คณะกรรมาธิการไปทบทวน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม่น้ำสายสุดท้ายสายที่ 5 คือ คสช. ซึ่ง รธน.กำหนดให้คงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนเป็น 6 – 7 คน เพิ่มได้ไม่เกิน 15 คน มีอำนาจหน้าที่คือ เสนอแนะให้ ครม.ปฏิบัติในเรื่องใด ถ้า ครม.พิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ 2.เชิญ ครม.ประชุมเพื่อหารือแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นแบบแผนตาม รธน.ชั่วคราวที่ผ่านมา ไม่มีที่กำหนดว่าให้ คสช. มีอำนาจปลดนายกฯหรือ ครม.ดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีกำหนดให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยแก่ ครม. ไม่มีที่กำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชา ครม.หรือข้าราชการประจำใด ๆ ทั้งสิ้น
“เพียงให้ คสช.มีอยู่เพื่อแบ่งเบาภาระด้านความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ ครม.ไม่วอกแวกกับปัญหาที่อาจสอดแทรกเข้ามาในช่วง 1 ปีนี้ เรื่องอย่างนี้ คสช.จะได้รับดำเนินการ และสร้างความปรองดอสมานฉันท์ อย่างก็ตามเพื่อให้ คสช.มีอำนาจจัดการเรื่องต่าง ๆ ในความจำเป็นแบบสุดขีดที่ไม่จำเป็นต้องหาวิธีอื่นนอก รธน. จึงได้กำหนดในมาตรา 46 ให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษ ที่สื่อมวลชนอ่านอาจเข้าใจผิดว่า คสช.มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้น ไม่จริง มีเพียงอำนาจพิเศษตามมาตรา 46 และอาจใช้อำนาจนั้นเพื่อสร้างสรรค์ก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ใน รธน. 48 มาตราถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับ รธน.ถาวร เราจึงนำมาตรา 7 มาเขียนไว้ด้วยเช่นกัน หลายคนอาจคิดว่า มาตรา 7 มาอีกแล้ว เรื่องที่ยุ่งยากในอดีตไม่ใช่เพราะมาตรา 7 หรอหรือ เราก็รู้ว่ายุ่ง แต่ไม่เขียนไว้ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะเกิดช่องว่าง คราวนี้เราก็เขียนว่า ถ้าเรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองของไทยหรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็น ก็ทำได้ แต่ถ้าศาลบอกว่าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ส่วนองค์กรอื่น ๆ เช่น ศาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังอยู่ทำหน้าที่ปกติจนกว่าจะมี รธน.ฉบับใหม่กำหนด
“ใน รธน.ฉบับถาวรที่จะไปร่างกันนั้น ไม่ได้ระบุถึงการเปิดให้ลงประชามติ แต่ก็ไม่ได้ปิดทาง เป็นเรื่องที่สามารถพิจารณากันได้ในอนาคต ส่วนเรื่อง รธน.ฉบับชั่วคราวนี้มีปัญหาควรแก้ไขนั้น ก็ให้ ครม. และ คสช. เสนอ สนช. เพื่อขอแก้เพิ่มเติมได้ โดยต้องการให้ยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้สามารถบริหารแผ่นดิน และแม่น้ำทั้ง 5 สายไหลได้คล่อง ดำเนินการได้โดยไม่สะดุด เพราะสะดุดที่จุดไหนก็แก้ไขกันไป” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแม่น้ำทั้ง 5 สายจะอยู่นานถึงเมื่อใด ตัว รธน.ฉบับนี้ก็อยู่จนกว่าจะมี รธน.ฉบับใหม่ ส่วน สนช.จะอยู่จนกระทั่งวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ด้าน ครม. จะอยู่ไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่มารับไม้ต่อ ส่วน สปช. จะอยู่จนถึง รธน.ฉบับใหม่ร่างเสร็จ และเขียนเกี่ยวกับ สปช. อย่างไรก็เป็นไปตามนั้น และ คสช.อยู่เมื่อใด โดยหลักหากประกาศ รธน.ฉบับใหม่ คสช.จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นเป็นต้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี บวกลบ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายวิษณุ เครืองาม จาก chaoprayanews.com