เครือข่ายองค์กรสุขภาพร้อง 'ดีเอสไอ' สอบทุจริต 'ผอ.-บอร์ดองค์กรเภสัชฯ'
8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ยื่นหลักฐานร้อง 'ดีเอสไอ' สอบทุจริต ผอ.-บอร์ดองค์การเภสัชฯ จี้คสช.ปลดปลัดสธ. ส่อเอื้อให้เกิดความเสียหาย เสนอปฏิรูปซุปเปอร์บอร์ดให้เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน
วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ 8 องค์กร ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณากรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ชุดนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีพฤติกรรมส่อทุจริต จนทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมีพ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผบช.สำนักคดีอาญา ดีเอสไอ และนางปานทิพย์ ศรีพิมล รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นผู้รับหนังสือ
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงประเด็นในการยื่นเรื่องครั้งนี้ว่าเกิดจากการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตของ อภ.ที่ ผอ.และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างและร่าง TOR ใหม่เพื่อเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงาน และไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)เคยทักท้วงมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า โรงงานยารังสิตไม่สามารถสร้างเสร็จทันกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ อภ. ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ราคาแพงจำนวนมากเสื่อม เพราะไม่ได้ใช้งาน และทยอยหมดอายุรับประกันตามสัญญา เช่น เครื่อง Chiller (เครื่องทำความเย็น) ราคานับร้อยล้านบาท หมดประกันเมื่อมิถุนายน 2557
“โรงงานของ อภ. ถนนพระราม 6 จะต้องทยอยปิดปรับปรุง เพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด GMP ตั้งแต่ตุลาคม 2557 เพราะฉะนั้นหากโรงงานยารังสิตไม่แล้วเสร็จจะเกิดปัญหา ส่งผลให้ไม่มีโรงงานรองรับการผลิตยาได้เพียงพอ เกิดปัญหาไม่มียาจำหน่ายในโรงพยาบาล กระทบต่อผู้ป่วยทั่วประเทศรุนแรงขึ้น” นพ.วชิระ กล่าว และว่าปัจจุบันโรงงานยารังสิตยังต้องเสียค่าสาธารณูปโภค และอื่น ๆ เฉลี่ยเดือนละหลายแสนบาท โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานเลย รวมถึงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีการเร่งรัดการก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้านภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงปัญหาที่ตามมาจากการก่อสร้างโรงงานยารังสิตล่าช้า จะทำให้กำลังการผลิตยาของ อภ.ลดลงอย่างมาก และปัญหายาตัดจ่ายที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะยิ่งลุกลามออกไปจนกระทบระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงของระบบยาของประเทศ
“โรงพยาบาลจะเผชิญปัญหาการบริหารยา ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด” ภญ.ศิริพร กล่าว และว่าขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งเผชิญปัญหาการขาดยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็นหลายรายการ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งผัดผ่อนไปทีละเดือน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถบริหารจัดการยาได้อย่างเหมาะและมีประสิทธิภาพ
สำหรับหนังสือเสนอให้ อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ภญ.ศิริพร ระบุว่า ประชาชนจะได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในการตั้งราคาและคิดกำไรที่สมเหตุสมผล ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร และมีบทบาทในการสร้างการเข้าถึงยาจำเป็นให้กับประเทศ เช่น ยากำพร้า ยาที่บริษัทเอกชนไม่สนใจผลิตเพราะได้กำไรน้อย ยาช่วยชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายองค์กรสุขภาพ 8 องค์กร ยังเดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาปลดกรรมการบอร์ดที่เหลือทั้ง 2 คน คือ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ. อภ. อีกด้วย .
ภาพประกอบ:เดลินิวส์ออนไลน์