คสช.แก้ประกาศให้วิจารณ์ได้แต่ห้ามข้อมูลเท็จ-ฝ่าฝืนให้องค์กรวิชาชีพสอบ
คสช.ออกประกาศ 103/2557 แก้ไขประกาศ 97 ผ่อนปรนให้สื่อวิจารณ์ได้ แต่ห้ามวิจารณ์การปฏิบัติงานโดยมีเจตนาไม่สุจริตและทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรมแทน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า ให้ยกเลิกความในข้อ (3) ของข้อ 2 แห่งประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
(3) การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
ยกเลิกข้อ 5 แห่งประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ 5 ในกรณีที่ปรากฏว่า บุคคลใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ระบุว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากความบิดเบือน และเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
(1) ประกาศ คสช.ฉบับที่ 14/2557 เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
(2) ประกาศ คสช.ฉบับที่ 18/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
2.ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสันให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
3.ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภททั้งที่เป็นของราชการและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งผู้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทรวมถึงการสื่อสารทางสังคมสื่อออนไลน์ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. ทั้งนี้ให้บุคคลดังกล่าวรวมทั้งบุคคลอื่นใดงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
(2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
(3) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(4) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่าง ๆ
(5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร
(6) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของ คสช.
(7) การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. ในโอกาสแรก ทั้งนี้หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
5.ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย
6.การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงเป็นความผิดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป