จาก"ชุมแพ"ถึง"อดินันท์" วีรบุรุษสีกากีพลีชีพที่ปลายขวาน
ในห้วงเวลาแค่ปีกว่าๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสูญเสียตำรวจน้ำดี ยศระดับ "พันตำรวจโท" ซึ่งดำรงตำแหน่ง "รองผู้กำกับการ" ไปแล้วถึง 2 นาย
หนึ่ง คือ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์ รองผู้กำกับการฝ่ายป้องกันและปราบปราม (รองผกก.ป.) สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์เสียชีวิตพร้อมลูกน้องอีก 2 นาย ในท้องที่ อ.รือเสาะ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2556 กลางวันแสกๆ
สอง คือ พ.ต.ท.อดินันท์ อิสมาแอล รองผกก.ป.สภ.กรงปินัง จ.ยะลา ถูกคนร้ายดักยิงถล่มขณะเดินทางโดยรถยนต์จนเสียชีวิตพร้อมลูกน้องรวม 3 ศพเช่นกัน ในท้องที่ อ.กรงปินัง เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2557 เวลาประมาณ 22.45 น.
ที่น่าตกใจคือ ทั้งสองเป็นตำรวจโรงพัก ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งยังได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างสูง...
พ.ต.ท.อดินันท์ เป็นตำรวจมุสลิม และเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 (นรต.41) ว่ากันว่าเป็นตำรวจที่นับถือศาสนาอิสลามยศสูงที่สุดที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในห้วงกว่า 10 ปีไฟใต้ เขาเป็นที่รักของชาวบ้านเนื่องจากใช้ศาสนาเข้าไปแก้ปัญหายาเสพติดที่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ ด้วยการชักชวนเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือใช้ยา ออกดะวะห์ (เผยแผ่ศาสนา) ไปตามสถานที่ต่างๆ
เหตุนี้เอง เมื่อเขาเสียชีวิตจึงมีการนำศพเขาไปละหมาดใหญ่ที่ "ศูนย์มัรกัสยะลา" อ.เมืองยะลา (สถานที่ประกอบศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะสายดะวะห์) ก่อนจะเคลื่อนศพไปทำพิธีฝังตามหลักศาสนาที่กุโบร์ (สุสาน) บ้านเกิด ว่ากันว่าเขาเป็นมุสลิมที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนแรกๆ อีกเหมือนกันที่เสียชีวิตแล้วมีการนำศพไปละหมาดใหญ่ที่ศูนย์มัรกัสยะลา
ด้วยความรักและการยอมรับที่ประชาชนในพื้นที่มีให้ จึงไม่มีใครคาดคิดว่า พ.ต.ท.อดินันท์ จะถูกปองร้าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านทั่วไปหรือกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก็ตาม แต่แล้วเหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้นจนได้...
เช่นเดียวกับการจากไปของ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เจ้าของฉายา "ชุมแพ" (ต่อมาได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก) แม้เขาไม่ใช่นักเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ก็มีอุดมการณ์เปี่ยมล้น อาสาสมัครลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญกรณีกรุ้มรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อปี 2549 ด้วยปณิธานว่าจะตามจับคนร้ายที่ฆ่าครูจูหลิงให้ได้
เขาเคยดำรงตำแหน่งสารวัตรปราบปราม (สวป.) สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่น เที่ยงตรง กระทั่งได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า "ชุมแพ" ตามชื่อของละครยอดนิยมในยุคนั้นที่ตัวเอกของเรื่องคือ "เพิก ชุมแพ" ยอมเสียสละต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่กระทำธุรกิจผิดกฎหมายและรังแกประชาชน
เมื่อย้ายไปดำรงตำแหน่ง รอง ผกก.ป. สภ.รือเสาะ ก็ยังยึดแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน จนได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน แม้แต่กลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติการณ์เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ก็ยังให้การยอมรับว่าเป็นนายตำรวจที่มีนิสัยตรงไปตรงมา และใจนักเลง
ด้วยเหตุนี้ ชาวรือเสาะที่เป็นไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีนจึงได้ร่วมกันจัดสร้างประติมานุสรณ์ หรือ รูปหล่อ "วีรบุรุษชุมแพ" เพื่อสดุดีและระลึกถึงคุณงามความดีของนายตำรวจผู้นี้ โดยพี่น้องมุสลิมที่ตามหลักศาสนาไม่อนุญาตให้มี "รูปเคารพ" ก็ไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่ขอให้นำไปตั้งในสถานที่เฉพาะ เช่น สวนกาญจนาภิเษก เป็นต้น
15 มี.ค.2557 พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดประติมานุสรณ์ พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์ ที่สวนกาญจนาภิเษก ในเขตเทศบาลตำบลรือเสาะ โดยมีชาวบ้านทั้งใน อ.รือเสาะ และใกล้เคียงไปร่วมพิธีอย่างคับคั่งหลายร้อยคน
นอกจากนั้นยังมี พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลรือเสาะ นายวรเชษฐ์ พรมโอภาษ นายอำเภอรือเสาะ น.ส.ฐาปานี คีรีวงษ์ ภรรยาของ พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ ตลอดจนศิษย์เก่าจากอุเทนถวายรุ่น 49 ซึ่ง พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ สำเร็จการศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
คำประกาศเชิดชู พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ ในพิธีเปิดประติมานุสรณ์ คือ โครงการจัดทำประติมานุสรณ์ เกิดจากความศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาว อ.รือเสาะ เพื่อสดุดีและระลึกถึงคุณงามความดีของ พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ ที่ได้เสียสละชีวิตในการปกป้องบ้านเมือง โดยตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ ท่านได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพด้วยความปลอดภัย แม้แต่ช่วงเวลากลางคืนท่านยังตระเวนตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนสามารถนอนตาหลับ ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ ทุกวัน รวมทั้งเพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำแบบอย่างที่ดีไปปฏิบัติตาม
นางชเอม หนูทอง ชาวบ้าน อ.รือเสาะ กล่าวว่า รู้จักรองฯชุมแพ ได้ยินชื่อเสียงของท่านเรื่องการทำงานอย่างตรงไปตรงมา จึงรู้สึกเสียใจที่รองฯชุมแพต้องมาจบชีวิตแบบนี้ แต่ก็รู้สึกดีใจแทนญาติพี่น้องของรองฯชุมแพ ที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ยังรำลึกถึงคุณงามความดีถึงขนาดสร้างอนุสาวรีย์ให้ รองฯชุมแพเป็นคนดี สมควรได้รับการเชิดชู การสร้างอนุสาวรีย์เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ผู้พบเห็นได้นึกถึงรองฯชุมแพไปนานๆ
ประติมานุสรณ์ พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ หล่อด้วยเนื้อทองเหลืองสูง 2 เมตร โดยฝีมือของ นายกำพล รอดเรืองงาม อดีตอาจารย์ศิลปะ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ถูกนำไปตั้งไว้ 3 แห่ง คือ ที่สวนกาญจนาภิเษก อ.รือเสาะ ที่วิทยาเขตอุเทนถวาย กรุงเทพฯ ซึ่ง พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ เป็นศิษย์เก่า และที่พิพิธภัณฑ์อุเทนถวายเขาเขียว จ.ชลบุรี
เพื่อระลึกถึงตำรวจน้ำดีที่ไปสละชีวีที่ปลายด้ามขวาน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 รูปหล่อเหมือนจริงของ พล.ต.อ.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์
2 ประติมานุสรณ์นายตำรวจเจ้าของฉายา "ชุมแพ"
3-4 พิธีเปิดประติมานุสรณ์ และหนังสือที่แจกเป็นที่ระลึกในงาน