'ซีพี'รับคอนแทรคฟาร์มฯมีข้อบกพร่อง-เกษตรกรจี้คลอดสัญญาที่เป็นธรรม
เกษตรกรเรียกร้องรัฐคลอดกม.เกษตรพันธสัญญา-ตั้งคกก.กำหนดนโยบาย-สร้างระบบสัญญากลางเป็นธรรม ‘เอ็นจีโอ’ แนะเปิดเวทีสาธารณะดีเบตรับรู้ข้อมูลสองฝ่าย หวังสร้างความเข้าใจตรงกัน กรรมการสิทธิฯ หวังบริษัทยักษ์ใหญ่ยอมรับสิทธิชุมชนร่วมจัดการ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, มูลนิธิชีววิถี, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, สมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา จัดเสวนา ‘เปิดปม:ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร’ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา กล่าวถึงปัญหาระบบเกษตรพันธสัญญาว่า สายการผลิตทั้งหมดมีแต่ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เกษตรกรไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งหมดตั้งแต่ต้น และหลายคนไม่เข้าใจวิธีการคำนวณผลตอบแทนให้กับตัวเอง เพราะมีความสลับซับซ้อนมาก ยกเว้นกลุ่มปัญญาชนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำและรุนแรงไม่ต่างอะไรกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างซื้อเสื้อกั๊กตัวละ 1 แสนบาท เพราะสิ่งนี้คือความรุนแรงที่กระทำระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งไม่มีกลไกใดของสังคมรับผิดชอบความสัมพันธ์การผลิตนี้เลย
ด้านน.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพบความรู้ในกระบวนการผลิตของบริษัทเป็นกึ่งผูกขาด โดยมีการนำเสนอข้อมูลทางบวกต่อสาธารณะผ่านนักวิชาการที่น่าเชื่อถือตลอดเวลา และตั้งข้อสังเกตว่า ชุดความรู้เหล่านี้อาจถูกครอบงำโดยกระบวนการสื่อสารของบริษัทใหญ่ที่มีขีดความสามารถเข้าถึงสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ตรงกันควรสร้างพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยกัน
“นึกไม่ออกว่าจะมีข้อเสนอต่อใคร เพราะจะเสนอ ‘ซีพี’ ให้บริษัทขนาดใหญ่เปิดพื้นที่ถกเถียงและลดการประชาสัมพันธ์แบบเข้มข้นลงก็คงเป็นไปไม่ได้ หรือจะเสนอผู้บริโภคก็มีความรู้น้อยมาก หรือจะเสนอเกษตรกรรายย่อยก็มีเสียงเบาเหลือเกิน ฉะนั้นเราต้องช่วยกันคิดว่า จะมีวิธีสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อแหวกวงล้อมกระบวนการข้อมูลข่าวสารของบริษัทขนาดใหญ่ได้อย่างไร” น.ส.กิ่งกร กล่าว
นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการ อาวุโส บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรพันธสัญญา โดยยอมรับอาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายเพื่อกำกับดูแล และสนับสนุนให้เกิดสัญญากลางที่เป็นธรรม ซึ่งบริษัทยินดีมอบสัญญาให้เป็นตัวอย่าง
“ทุกอย่างมีหลายมุม ความจริงที่ได้ยินวันนี้ ส่วนใหญ่จริง แต่อาจจะจริงไม่หมด ดังนั้นขอให้ใช้ข้อมูลครบถ้วนก่อนตัดสินใจ” ผู้บริหารอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าว
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเริ่มเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ฉะนั้นต้องเปลี่ยนจากระบบธุรกิจการเกษตรให้เกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งสิทธิชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยบริษัทต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการมากกว่าการให้เกษตรกรแต่ละคนแข่งขันทางรายได้ ชุมชนมีอำนาจการต่อรอง เกิดสัญญาที่เป็นธรรม และมีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่กำกับดูแล
ขณะที่อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธสัญญาให้อำนาจในทางปฏิบัติคนละเรื่อง จึงเป็นช่องว่างทำให้บริษัทใช้ความไม่รู้ของเกษตรกรเป็นกลไกของภาครัฐคุ้มครอง เพราะฉะนั้นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายและกลไกภาครัฐ เพื่อการเข้าถึงของเกษตรกร นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนนโยบาย ทั้งนี้ จะต้องสร้างความรู้ให้กับผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องเกษตรพันธสัญญาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา ในฐานะเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากระบบที่ไม่เป็นธรรม ได้มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าให้แก้ไขปัญหาเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบเกษตรแบบพันธสัญญาที่เป็นธรรม เพื่อควบคุม กำกับ แก้ไขปัญหา และให้จัดทำสัญญากลาง ข้อตกลงซื้อขายพืชผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อให้เกิดสัญญาร่วมที่เป็นธรรมระหว่างบริษัทกับเกษตรกร และจัดทำกระบวนการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกษตรพันธสัญญา
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการต้นสังกัดต้องตรวจสอบกรณีนักวิชาการถูกแทรกแซงจากบริษัทให้เขียนบทความสนับสนุน ตอบโต้ประเด็นข่าวเชิงลบ โดยมิได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ อีกทั้งให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เเละองค์กรต้นสังกัดสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงต่อสาธารณชน พร้อมมีมาตรการเฝ้าระวังในการทำงานข่าวที่เป็นอิสระ กรณีบริษัทเอกชนจ่ายเงินเดือนให้นักข่าวอาวุโส 19 ราย ในลักษณะต่างตอบแทน .
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/CheRepublic?fref=tl_fr_box