'นิพนธ์' ค้านตั้งกองทุนช่วยชาวนาจากการเก็บค่าธรรมเนียมผู้ส่งออก
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ค้านเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออก ตั้งกองทุนช่วยชาวนา เชื่อภาระจะตกอยู่ที่ชาวนา เผยอดีตเคยทำมาก่อน ผลการส่งออกข้าวลดลง
จากกรณีที่สภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำเสนอรูปแบบของการปฏิรูปการเกษตรในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยจะนำเสนอยุทธศาสตร์ “อนาคตข้าวและชาวนาไทย” กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่นำเสนอ หนึ่งในหลายๆ ข้อได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนาไทย ซึ่งการนำเงินเข้ากองทุนดังกล่าวสภาหอการค้าไทยแนะนำว่า อาจจะนำเงินเข้ากองทุน โดยพิจารณานำเงินมาจาก
1) กระทรวงการคลัง โดยเรียกเก็บค่าธรรมอัตราร้อยละ 1 จากผู้ส่งออก (แทนภาษี หัก ณ. ที่จ่าย 0.75ที่ เรียกเก็บจากโรงสี )
2) เงินโควต้าสหภาพยุโรป ที่กระทรวงพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้ส่งออก เพื่อนำมาเป็นกองทุนฯ ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท
ดร.นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงข้อเสนอของสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนาไทยว่า หากจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 1 จากผู้ส่งออก จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการขาย เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในอดีตที่เราเรียกว่า 'พรีเมียมข้าว' เคยใช้มาก่อนแล้ว ปรากฎว่า ทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดน้อยลง แต่พอยกเลิกการส่งออกก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการพัฒนาต้องการพัฒนาอะไร หากต้องการพัฒนาตลาดเพื่อการส่งออกก็ใช้กองทุนที่มีอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออกมาใช้
“ในสมัยหนึ่งเคยแนะนำให้เอาเงินกองทุนมาใช้ในการหาข้อมูลการค้าข้าวในตลาดโลก เพื่อจะได้มาวางแผนการตลาด แต่นักการเมืองกลับใช้เงินกองทุนกันอย่างไม่เป็นระบบใช้เพื่อไปต่างประเทศ ถ้าจะพัฒนากันจริงๆเอาเงินจากตรงนี้มาจัดการให้เป็นระบบแทนก็ได้”
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกเข้ามาจัดตั้งกองทุนหรือนำกลับมาใช้อีก เพราะการไปเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออก ผู้ส่งออกหักค่าข้าวสารที่ซื้อจากโรงสี โรงสีซื้อข้าวสารจากชาวนาถูกลง รัฐสวัสดิการประชานิยมไม่มีแล้ว ท้ายสุดคนที่จะแบกรับภาระนี้ก็คือชาวนา