'คนรักษ์บ้านเกิด' มติไม่รับคกก.เเก้ปมเหมืองทองตั้งจากทหาร
มติชาวบ้านเหมืองทองเลย “ไม่เอาคณะกรรมการที่ตั้งโดยทหาร/คสช. หวั่นเข้าข้างเหมืองไม่ฟังประชาชน”
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ที่วัดศรีสะอาด บ้านห้วยผุก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประชาชนจำนวน 491 คน จาก 6 หมู่บ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ร่วมลงชื่อในการทำประชาคม “ไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร/คสช. และไม่เอาเหมือง”
การทำประชาคมครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ชาวบ้านที่รวมตัวกันในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด รวมถึงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้ใหญ่บ้านบางส่วน ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการแสดงเจตจำนงค์ในการไม่ยอมรับการแต่งตั้งและการดำเนินการของคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยทหารดังกล่าว และส่งไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง, ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดเลย พล.ต.วรทัต สุพัฒนนานนท์, และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
หนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับที่ใช้ทำประชาคมในวันนี้ ระบุว่า หลังจากที่ผู้แทนทหาร คสช. ระดับปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดเลย เข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 ชุด อันได้แก่ (1) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (2) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง (3) คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวล้อม และ (4) คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยหวังให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ได้รับผลกระทบและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในตำบลเขาหลวง
อย่างไรก็ตาม หนังสือฯ ระบุว่า คณะกรรมการทั้ง 4 มีที่มาและสถานะไม่ชัดเจน องค์ประกอบของคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและบริษัทซึ่งเป็นคู่กรณีของชาวบ้านทั้งสิ้น และไม่มีคนกลางหรือตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วม
นอกจากนี้ ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในช่วง 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการไม่พยายามทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และความต้องการของประชาชน 6 หมู่บ้านที่พยายามนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว แต่กลับใช้วิธีบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับแนวทางของทหารที่ร่วมมือกับข้าราชการและบริษัทแต่ฝ่ายเดียว ถือว่าไม่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง
ดังนั้น ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดผู้ร่วมลงนามในประชาคมวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 จึงมีมติ “ไม่ยอมรับผลการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยทหาร/คสช.” เเละไม่ขอร่วมมือกับคณะกรรมการดังกล่าว พร้อมทั้ง “ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งขึ้น”
นายสมัย ภักมี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นประธานในการทำประชาคม ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นนี้ มีการเรียกผู้ใหญ่บ้านและสมาชิก อบต. เข้าร่วมประชุมและชี้แจงว่าให้ไปในฐานะอนุกรรมการ แต่ไม่มีใครเห็นหนังสือแต่งตั้งเป็นลายลักษ์อักษร ว่าคณะกรรมการมีที่มาที่ไปอย่างไร มีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นใครบ้าง และจะทำงานกันอย่างไรให้ได้ฟังเสียงของชาวบ้านอย่างจริงจัง” “ทั้งยังมีกรณีการจัดประชุมรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา แต่ประธานในที่ประชุมกลับไล่ชาวบ้านที่ต้องการแสดงความเห็นให้มีการเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทออกจากที่ประชุม ทำให้ชาวบ้านเกิดคำถามว่าเขาไม่ต้องการฟังความเห็นที่ต่างจากธงที่ตั้งไว้แล้วของคณะกรรมการฯ ใช่หรือไม่
นางพรทิพย์ หงชัย ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ที่เราต้องการจากรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาบริหารประเทศชาติและดูแลความสงบเรียบร้อย คือขอให้คุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้านที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจากการขนแร่อย่างป่าเถื่อนเมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ในเหตุการณ์วันนั้นไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือเลย แล้วยังมีข่าวการขู่ลอบสังหารแกนนำชาวบ้านตามมาอีก และเราต้องการให้ทหารช่วยหาตัวคนบงการโดยเฉพาะนายทหารที่เป็นหัวหน้ากองกำลังอำพรางใบหน้า 300 คนที่เข้ามาทำร้ายชาวบ้านในคืนนั้น ซึ่งผ่านมา 2 เดือนแล้ว ควรมีความคืบหน้าในการเอาตัวคนผิดและคนบงการมาลงโทษ”
“หากอยากช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง ก็ต้องแสดงความจริงใจในรับฟังความต้องการของประชาชน ซึ่งทางกลุ่มฯ ก็ได้พยายามสื่อสารออกไปทั้งต่อสาธารณะ และยื่นหนังสือโดยตรงไปยัง คสช. และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว” ตัวเเทนชาวบ้าน กล่าว
ทั้งนี้ นางพรทิพย์ เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดต่อการแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ซึ่งออกเป็นแถลงการณ์ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา 6 ข้อ ได้แก่
(1) การเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดจำนวน 6 แปลง
(2) การเพิกถอนใบอนุญาตประกบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้งกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด
(3) แล้วจึง อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์
(4) ขนสินแร่ออกไปทั้งหมด
(5) จากนั้นทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
(6) ควบคู่ไปกับการเยียวยาประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในทุกด้าน .
ภาพประกอบ:ไทยพับลิก้า