กฤษฎีกาฯ ย้ำความเห็นกม.ให้นายกฯยกเลิกคำสั่งลงโทษปลด "พัชรวาท"
กฤษฎีกาฯ ย้ำความเห็นทางกฎหมายให้นายกฯ ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลด "พัชรวาท"ออกจากราชการตามมติ ก.ตร. คดีสลายการชุมนุมปี 51 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาศาลปกครองถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือเรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ฟ้องคดีขอให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร. ที่ยกโทษปลดออกจากราชการ โดยยืนยันความเห็นทางกฎหมายว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
โดยระบุเนื้อหาว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๑๐๖/๓๒๓ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารที่ส่งมาด้วยแล้ว สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
๑. นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๒๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ปลดพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการ ตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดว่าเป็นผู้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑
แต่ต่อมาคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พิจารณาอุทธรณ์ของพลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ในการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ ๑๗/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว เห็นว่ายังรับฟังไม่ได้ว่า พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้สั่งยกโทษแก่พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ตามข้อ ๑๘ (๒) (ง) แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ และสำนักงาน ก.ตร. ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ตช ๐๐๑๒.๓๑/๓๐๕ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ แจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร.
๒. พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ได้มีหนังสือร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามมติ ก.ตร. แต่ได้รับการชี้แจงว่า การยกเลิกคำสั่งลงโทษมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามายังนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง โดยในเรื่องเสร็จที่ ๗๐๓/๒๕๕๓ ได้แจ้งให้ทราบว่า ประเด็นที่ ก.ตร. โต้แย้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดพลตำรวจเอก พัชรวาทฯ เกินอำนาจตามกฎหมาย เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลอันควรได้รับการพิจารณา นายกรัฐมนตรีจึงอาจทำได้ ๒ ทาง คือ หากเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของ ก.ตร. นายกรัฐมนตรีก็ชอบที่จะสั่งการตามมติของ ก.ตร. ซึ่งหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นชอบด้วยหรือมีข้อโต้แย้งอย่างใด ก็อาจดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของ ก.ตร. ก็อาจบันทึกโต้แย้งมติของ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนใหม่
อย่างไรก็ดี ภายหลังได้รับแจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว นายกรัฐมนตรียังมิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะข้างต้น
๓. พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ เห็นว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ทำให้ตนได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๔๐/๒๕๕๓ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติของ ก.ตร. โดยการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๒๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ลงโทษปลดออกจากราชการ และให้นายกรัฐมนตรีคืนสิทธิและประโยชน์อันพึงได้ตามกฎหมายให้แก่ตนโดยเร็ว ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ ๙๙/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ วินิจฉัยว่า หากนับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ครั้งแรก
คือ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จนถึงวันที่ได้รับแจ้งผลการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา
ครั้งหลังสุด คือวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นับได้ว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแก่การพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก
๔. สำนักนายกรัฐมนตรีได้ศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้วมีความเห็นว่าแม้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในส่วนความเห็นข้อกฎหมายจะมีความชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามมติ ก.ตร.
แต่บางส่วนในคำพิพากษาก็ยังอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่ ๗๐๓/๒๕๕๓ ที่มีความเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้อาจทำได้ ๒ ทาง คือ สั่งการตามมติ ก.ตร. หรือบันทึกโต้แย้งมติ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนใหม่ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความรอบคอบ สมควรหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อช่วยวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางและให้ความเห็นทางกฎหมายว่า
ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายกรัฐมนตรีสมควรสั่งการหรือมีทางเลือกเพื่อสั่งการอย่างใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จึงได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อพิจารณาสั่งให้งดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง รวมทั้งมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นปัญหาดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสั่งให้งดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และให้สำนักนายกรัฐมนตรีหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานศาลปกครอง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแล้ว มีความเห็นว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๒๘/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ ๙๙/๒๕๕๔ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
เมื่อปรากฏว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งให้งดการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าว คำพิพากษาศาลปกครองกลางจึงถึงที่สุดตามที่กำหนดในมาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับในคำพิพากษาตามที่กำหนดในมาตรา ๗๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
สำหรับปัญหาว่า นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติให้เป็นไปตามคำบังคับในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางอย่างไร นั้น เห็นว่า เมื่อคำบังคับในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายกรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติของ ก.ตร. ที่ได้รับแจ้งมานั้น