จัดอำนาจตำรวจกับการเริ่มต้นเดินหน้าปฏิรูป?
“การแก้ไขเพียงระเบียบบางส่วนไม่อาจทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ในเมื่อครั้งนี้ได้โอกาสที่ดีมาแล้ว คสช.น่าจะหารือกับเหล่านักวิชาการ ผู้ที่อยู่ในวงการทำงานกับตำรวจมานานเข้ามาเสนอแนะและช่วยกันปรับระเบียบต่างๆ อุดช่องโหว่ของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง”
พลันที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ และประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยให้ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง หรือพูดง่ายๆ ว่า โละ “ก.ต.ช.–ก.ตร.” ชุดเก่า
รวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 89/2557 กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม คำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น
สำนักข่าวอิศรา ประมวลความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองว่า คำสั่งคสช.ที่ 88/2557 รื้อใหญ่ตำรวจ ยังไม่ค่อยตอบโจทย์การปฏิรูปตำรวจเท่าไร ปัญหาของตำรวจมีมากมาย ที่สำคัญคือตำรวจไม่ได้เป็นตำรวจของประชาชน แต่เป็นลูกน้องของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจ โดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งนิยมใช้ตำรวจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เงินทอง และอำนาจ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายที่มีเอื้อให้นักการเมืองใช้อำนาจในการแต่งตั้งแทรกแซงโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม แต่งตั้งตำรวจที่ไม่ได้ทำงานแต่เชี่ยวชาญในการวิ่งเต้นผู้ใหญ่หรือใช้เงินทองซื้อตำแหน่ง ทำให้ตำรวจดีที่ทำงานหมดขวัญและกำลังใจ
"ก.ตร.มีกฎเกณฑ์แต่มีข้อยกเว้นไปตามเหตุผลและความจำเป็นที่อ้างกันได้ คำสั่งฉบับนี้มีการยุบก.ต.ช.และก.ตร.เดิม แล้วแต่งตั้งขึ้นใหม่ ก.ต.ช.เพิ่มกรรมการเป็นรองนายกฯ เพิ่มปลัดฯ กลาโหม ผอ.สำนักงบฯ ขึ้นใหม่ ตัดรมว.และปลัดก.มหาดไทยและยุติธรรมรวม ทั้งเลขาสมช.ออกไป โดยมีผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขาฯ ส่วนก.ต.ร.เปลี่ยนกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากวุฒิสภา 2 คน วิธีการที่เลือกจากวุฒิสภายังไม่ได้กำหนด ส่วนกรรมการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทั้งจากอดีตนายตำรวจโดยการสรรหาและผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ นั้น อาจมีมาเพิ่มเติมภายหลัง
นอกเหนือคำสั่งฉบับนี้ ยังมีคำสั่งคสช.อีก 2 ฉบับ เข้าใจว่าเป็นขั้นแรกของการปฏิรูปตำรวจเท่านั้น ยังต้องเดินกันอีกยาวไกลกว่าจะได้ตำรวจของประชาชนกลับคืนมา"
ด้านผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นถึงคำสั่งของคสช.ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ส่วนตัวไม่ได้มองว่า คือการปฏิรูป เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายพระราชบัญญัติ 2547 ทั้งนี้เห็นด้วยกับการปรับปรุงการบริหารบุคคล เนื่องจากการบริหารงานบุคคลในองค์กรตำรวจถือเป็นปัญหาสำคัญและสร้างความล้มเลวในการบริหารงานด้านต่างๆ ที่ผ่านมา
"ครั้งนี้ถือว่าคสช.จับถูกจุดที่ปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลก่อน เนื่องจากพ.ร.บ.2547 มีช่องโหว่มาก"
อย่างไรก็ตามผศ.ดร.ปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตจากประกาศของคสช.ครั้งนี้ คือ
1.คสช.อยากจะเชื่อมโยงด้านความมั่นคง เราจึงเห็นหน้าตาของระเบียบครั้งนี้มีปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามา ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในก.ต.ช.ที่เป็นการบริหารงานด้านนโยบายของตำรวจ หากมองในแง่บวก คือ ทำให้เกิดนโยบายแบบบูรณาการกันมากขึ้น ทั้งเรื่องความสงบ ความมั่นคง เช่น งานภาคใต้จะมีการบูรณาการที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น
2.การเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงบฯ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารงบประมาณในส่วนภาระของตำรวจดีขึ้นกว่าเดิม
3.การเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากส.ว. 2 ท่านแทนกลุ่มอาจารย์ มองดูหน้าตาอาจจะดูดี ถึงแม้จะเป็นการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นพรรคพวกเข้ามาถ่วงดุลและไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน ดังนั้นการเพิ่มกรรมการที่เอามาจากวุฒิสภาถือเป็นผู้แทนประชาชน ทั้งนี้อยากจะให้เพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกควรมีคุณสมบัติอย่างไร
“ในส่วนของก.ต.ช.ระเบียบคสช.ที่ออกมาดู "ไฉไล" กว่าเดิม และกระทัดรัดกว่าเดิม ดังนั้นหวังว่าในอนาคตคงจะไม่เห็นการเลื่อนประชุมอย่างไม่มีเหตุผล เช่นจะไม่รับรองวาระนี้ก็จะไม่ประชุม ฉะนั้นคสช.อาจจะต้องมีข้อกำหนดเรื่องวาระการประชุมให้ชัดเจนด้วย”
ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งผบ.ตร.โดยให้ผบ.ตร.คนเก่าคัดเลือกรอง และเสนอก.ต.ช.เห็นชอบถึงจะเสนอทูลเกล้าฯ มีข้อดีในแง่ของการสานต่อนโยบาย เพราะวัฒนธรรมของตำรวจคือเปลี่ยนนายก็เปลี่ยนนโยบาย จนไม่มีคนอยากร่วมงานด้วยดังนั้นระเบียบครั้งนี้ผบ.ตร.เก่ามีอำนาจมองคนที่จะมาสานต่อนโยบายได้
อย่างไรก็ตามเราต้องพึ่งระวังด้วยการให้มีการประเมินผลผบ.ตร. โดยจะต้องมีกฎกติการะเบียบข้อบังคับให้ชัดเจนถูกว่าผบ.ตร.จะต้องถูกประเมินและต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์แก่สาธารณะชน การประเมินนั้นนอกจากจะประเมินในองค์กรเดียวกันแล้วต้องให้ประชาชนร่วมประเมินด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีการออกแบบรูปแบบของการประเมินอีกครั้ง การทำในลักษณะนี้จะช่วยทำให้การสืบ "ทายาทอสูรหาย" ไปด้วย อีกทั้งยังจะช่วยสร้างให้ผบ.ตร.ดูดี และมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น
สุดท้ายผศ.ดร.ปนัดดา เห็นว่าในส่วนของก.ตร.ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของตำรวจไม่ควรให้มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว เพราะมิเช่นนั้นจะมีการเข้ามาล่วงลึกข้อมูลกันได้อีก แต่ข้อเด่นสำหรับคำสั่งของคสช.คือความพยายามที่จะกระจายอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นทุกระดับ
“อย่างไรก็ตามการแก้ไขเพียงระเบียบบางส่วนไม่อาจทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ในเมื่อครั้งนี้ได้โอกาสที่ดีมาแล้วคสช.น่าจะหารือกับเหล่านักวิชาการ ผู้ที่อยู่ในวงการทำงานกับตำรวจมานานเข้ามาเสนอแนะและช่วยกันปรับระเบียบต่างๆอุดช่องโหว่ของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 และทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง”
ขณะที่พล.ต.อ.ไกรสุข สินศุข อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มองว่า นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปตำรวจ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า หน้าที่ของตำรวจคือการทำงานป้องปราม ดังนั้นจึงอยากให้คสช.เริ่มจากการแก้โครงสร้างด้านการบริหารงานก่อนรื้อด้านโครงสร้างอำนาจ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนว่า เรายังเน้นอยู่ที่การใช้อำนาจนิยมอย่างเดียว ถ้าจะให้ดีก็ควรทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน