ร้องสอบจัดซื้ออาหารดิบ"ผู้ต้องขัง"ส่อฮั้ว-ซัดผบ.เรือนจำ-ผู้ว่าฯ อาจผิด กม.
ยื่นหนังสือร้อง“ประยุทธ์-ประธานป.ป.ช.”สอบจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง3 แห่งส่อฮั้ว เอื้อประโยชน์ 4 หน่วยงานรัฐ ได้รับสิทธิพิเศษ-พ่อค้า ซัดผบ.เรือนจำ-ผู้ว่าฯ อาจทำผิดกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา www.Isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เอกชนรายหนึ่งได้ยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้สอบสวนกรณีการจัดซื้อเครื่องอาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 โดยวิธีกรณีพิเศษ ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่า การจัดซื้อดังกล่าวผ่านหน่วยงาน 4 แห่ง คือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย องค์การคลังสินค้า และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย จำกัด มีความไม่โปร่งใสส่อร่วมกันสมยอมเสนอราคาทำให้รัฐเสียประโยชน์
หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า เคยร้องเรียนต่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อดังกล่าว แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ที่จะต้องทำการตรวจสอบอยู่อีกมาก จึงเกรงว่า จะมีความล่าช้า และอาจจะทำให้เรือนจำและหน่วยงานของรัฐ มีโอกาสร่วมกันกระทำการส่อทุจริตในการจัดซื้อเครื่องอาหาร ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ 2558 ที่เรือนจำจะต้องทำการจัดซื้อให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2557 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ วันที่ 5 มิ.ย.56 และ 12 ก.ย.56 เอกชนรายดังกล่าวได้ยื่นหนังสือประธาน กรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการจัดซื้ออาหารดิบของเรือนจำ 3 แห่ง
1.การจัดซื้ออาหารดิบของเรือนจำอ่างทอง ระบุว่า การจัดซื้ออาหารดิบเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.55 วงเงิน 16.7 ล้านบาท อาจมีการสมยอมราคาระหว่างผู้เข้าเสนอราคา 3 ราย คือ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย องค์การคลังสินค้า และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย จำกัด และเห็นว่าผู้บัญชาการเรือนจำและผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
2. การจัดซื้ออาหารดิบของเรือนจำชัยนาท วงเงิน 11.2 ล้านบาท และนครสวรรค์ โดยวิธีกรณีพิเศษ อาจมีการสมยอมราคาระหว่างผู้เข้าเสนอราคา 4 ราย คือ องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย องค์การคลังสินค้า อ.ต.ก. และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย จำกัด
หนังสือร้องเรียนระบุว่า การจัดซื้ออาหารดิบ โดยวิธีกรณีพิเศษของกรมราชทัณฑ์เป็นการจัดซื้อที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเพียงบางกลุ่ม การจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ เรือนจำจะต้องจัดซื้อจากหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ มีเพียง 4 หน่วยงาน ในขณะที่เรือนจำมีมากถึง 143 แห่ง หน่วยงานเหล่านี้ได้ไปทำสัญญาแต่งตั้งให้เอกชนเป็นตัวแทนการค้า และลงทุนจัดส่งอาหารดิบให้แก่เรือนจำและทัณฑสถานอีกทอดหนึ่ง และหน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษจะได้ค่าการตลาดตอบแทน5% ของวงเงินตามสัญญา ปัจจุบันหน่วยงานที่ได้รับสิทธิเศษจะแต่งตั้งให้เอกชนเพียงไม่กี่กลุ่มเป็นตัวแทน และตัวแทนแต่ละกลุ่มส่วนมากจะเป็นผู้ทำการค้าขายกับเรือนจำและทัณฑสถานมาเป็นเวลานาน จึงทำให้เอกชนที่เป็นตัวแทนหน่วยงาน สามารถประสานผลประโยชน์เพื่อกำหนดราคา และ กำหนดเรือนจำและทัณฑสถาน ให้หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษไปทำการยื่นซองเสนอราคาดังกล่าวได้ตามความต้องการดังนั้นจึงทำให้การเสนอราคาไม่เป็นด้วยความสุจริต
แหล่งข่าวจากเอกชนรายหนึ่งเปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ร้องเรียนต้องต่อ คสช. และป.ป.ช. เนื่องจากการจัดซื้ออาหารดิบ สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง โดยวิธีกรณีพิเศษ แม้จะเป็นวิธีซื้อจากหน่วยงานรัฐ แต่ก็ยังเป็นวิธีการจัดซื้อที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนโดยตรง เพราะหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานไม่มีขีดความสามารถที่จะทำการจำหน่ายและจัดส่งอาหารดิบพร้อมเครื่องปรุง ที่เป็นทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชนิด ให้กับทางเรือนจำทั้งประเทศพร้อมกันในแต่ละวันได้ ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐ จึงต้องแต่งตั้งเอกชน ให้เป็นผู้จำหน่ายอาหารดิบแทนหน่วยงานของรัฐและได้กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด พร้อมทั้งต้องจ่ายค่าการตลาด ให้กับหน่วยงานของรัฐในอัตราร้อยละ 3-5 ของวงเงินตามสัญญา และผลประโยชน์ที่เอกชนได้รับโดยตรงนอกจากผลกำไรทางการค้าแล้ว เอกชนที่เป็นตัวแทนก็ไม่ต้องไปทำการแข่งขันเสนอราคากับเอกชนด้วยกันในวิธีการประมูลแบบปกติโดยทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งปัจจุบัน มีเอกชนที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานของรัฐ ที่ทำการค้าขายกับเรือนจำในระบบผูกขาดมาเป็นระยะเวลายาวนานอยู่เพียงไม่กี่ราย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีที่ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า การจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งงาน และการลักลอบนำเข้ายาเสพติดหรือสิ่งผิดกฏหมายนั้น เห็นว่า เป็นเหตุผลที่ขัดต่อความเป็นจริง เพราะในการจัดส่งอาหารดิบให้กับเรือนจำ ผู้ขายจะต้องส่งอาหารดิบให้คณะกรรมการตรวจรับจากภายนอกเรือนจำเท่านั้น และคณะกรรมการตรวจรับซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ จะต้องทำการตรวจนับปริมาณอาหารและคุณภาพของอาหาร ตลอดจนต้องตรวจค้นยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน แล้วเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ จะเป็นผู้ขับรถเข้าไปในเรือนจำเอง จึงทำให้ผู้ขายอาหารดิบและผู้ต้องขังไม่มีโอกาสจะพบกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้จัดซื้ออาหารดิบจากหน่วยงานของรัฐ 3 แห่ง คือ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย รวม 1,130 ครั้ง รวมวงเงินทั้งสิ้น 10,336,778,864บาท
อ่านประกอบ:
อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ยันจัดซื้ออาหารทำตามขั้นตอน-ถ้าเขียนข่าวไม่ดีห้ามเข้า
ผอ.กองคลังราชทัณฑ์ แจงละเอียด มหากาพย์จัดซื้ออาหารดิบ “ผู้ต้องขัง”
อธิบดีราชทัณฑ์ แจงยิบ!ปมผูกปิ่นโต 15 ปี ซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง” 8.5 พันล.
ชุมนุมสหกรณ์ฯผูกขาย“อาหาร”ผู้ต้องขัง1,793 ล้าน -3 แห่งทะลุหมื่นล.
กางหลักฐานซื้อ“อาหารดิบ”ผู้ต้องขัง กี่ครั้งกันแน่-ใครสับสน?
เปิดเมนูอาหาร 3 มื้อ"ผู้ต้องขัง"เรือนจำบางขวาง หลังผูกขาดจัดซื้อ 15 ปี ?
ตีแผ่!ผูกปิ่นโต 15 ปีซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง”เรือนจำทั่ว ปท.8.5 พันล.