“วิชา” เตือนเลิก มโน! "ยิ่งลักษณ์" ทัวร์ยุโรปไม่กลับไทย
'ศ.วิชา มหาคุณ' เตือนคนไทยอย่าคิดไปเอง กรณี คสช.อนุญาต 'ยิ่งลักษณ์' ทัวร์ยุโรป ส่อไม่กลับไทย ยันไม่โดนเเทรกเเซง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาชุด “8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปสังคมไทย พ้นภัยคอร์รัปชั่น” ณ หอประชุมศรีบรูพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวตอนหนึ่งถึงการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมไทยว่า จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเปลี่ยนจากระบบกล่าวหาเป็นไต่สวน เพราะระบบใหม่ศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ด้วยการเรียกพยานและหลักฐานได้ตามดุลยพินิจ ทั้งนี้หากไม่เปลี่ยน เมื่อศาลพิจาณายกฟ้องด้วยการเคลือบแคลงสงสัยอยู่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่ชัดเจนและนำไปสู่ความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชน
กระบวนการยุติธรรมอีกส่วนหนึ่งที่ควรปฏิรูป กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ควรลดอำนาจการตัดสินบางคดีจาก 3 ศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ให้เหลือเพียง 2 ศาล โดยไม่ต้องมีศาลฎีกา อย่างไรก็ดี การพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ถือเป็นกระบวนการที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ทั้งนี้ ผู้พิพากษาต้องปรับตัวและวินิจฉัยให้ละเอียดรอบคอบกว่าเดิมด้วย
“ในต่างประเทศมีการตัดสินคดีใหญ่สิ้นสุดเพียงศาล 2 ชั้นเท่านั้น ฉะนั้นการมีศาล 3 ชั้นของไทยจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัยที่สุด เพราะมาจากระบบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของไทยที่ไม่พึ่งพอใจกับการตัดสินคดี”
ศาสตราจารย์วิชา กล่าวด้วยว่า การทำคดี ป.ป.ช. ใช้ระบบไต่สวน ซึ่งส่วนใหญ่โจทก์จะร้องเรียนจากคนระดับล่าง แต่ต่อมา ป.ป.ช.ไต่สวนขยายผู้กระทำผิดไปเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ปลาตัวโตที่เป็นผู้กระทำผิดระดับหัวหน้าได้ในที่สุด
“คดีจำนำข้าวชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นจากการยื่นคำร้องในระดับรัฐมนตรีเท่านั้น อดีตนายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยวเลย” กรรมการป.ป.ช. กล่าว และว่านายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ทำผิด เนื่องจากโครงการจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไม่ใช่แต่เป็นเจี๊ยะทูเจี๊ยะ"
เมื่อถามถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ ศาสตราจารย์วิชา ระบุว่าเป็นระบบปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแปลง โดยการแก้กฎหมายให้สามารถสกัดกั้นไม่ให้จำเลยที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการหลบหนี
“คดีลักษณะนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสาร ถ้าสมมตินางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศ แล้วไม่กลับมา อย่าไปมโน! พร้อมยืนยัน คสช.ไม่เคยแทรกแซงการทำงาน”
เมื่อถามอีกว่าความคาดหวังที่อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งสำนวนคดีฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ไม่มีความคาดหวังอะไรเลย เราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด มีหน้าที่เพียงการทำสำนวนส่งเท่านั้น อัยการจะไม่พอใจถือเป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งสำนวนให้ อสส. คาดว่าจะเป็นอาทิตย์หน้า