คำต่อคำ “ยิ่งลักษณ์” โต้ป.ป.ช. 6 ปม ชี้เร่งรัดสอบ-ฟังพยานปฏิปักษ์
"ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าวันนี้ดิฉันเป็นราษฎรเต็มขั้น ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพเยี่ยงประชาชนคนไทยทั่วไป และขอยืนยันว่าไม่ทิ้งพี่น้องประชาชนคนไทย และดิฉันพร้อมที่จะกลับมาประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 7 : 0 ชี้มูลความผิดคดีโครงการรับจำนำข้าวดังนี้
จากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดดิฉันว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาดิฉันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอเรียนว่า
1.กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการพิจารณาที่ เร่งรีบ รวบรัด โดยแจ้งข้อกล่าวใช้เวลาเพียง แค่ 21 วัน และหลังจากนั้นก็ชี้มูลความผิดอาญาต่อดิฉัน ภายใน 140 วันซึ่ง ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติกับคดีอื่น ๆที่ดำเนินการกับนักการเมืองเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อดิฉัน เมื่อเทียบเคียงกับการดำเนินคดีกับการโครงการประกันราคาข้าว ที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาในการดำเนินการนานไม่น้อยกว่า 4 ปี โครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช. กลับไม่มีความคืบหน้า อันถือว่ามิได้มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน
2.นอกจากนี้ ในการปฏิบัติของ ป.ป.ช. เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ เห็นว่าคดีนี้มีพฤติการณ์ รวบรัด เป็นกรณีพิเศษดังนี้
-เลือกรับฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวดิฉัน
- ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในการเสนอพยานบุคคลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ
- ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต็อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องสต็อกข้าว ทั้ง ๆที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว
- ไม่ไต่สวนในข้อเท็จจริง กรณีการลงบันทึกบัญชีที่ข้อขัดแย้งและแตกต่างกันของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี และ คณะกรรมการ กขช.ให้เป็นที่สิ้นสุด
- กรณีไม่พิจารณาการที่ดิฉันคัดค้าน นาย วิชา รวม 3 ครั้ง
3.นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายระดับประเทศ ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร เป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติก็เป็นการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ถือว่าเป็นการบริหารที่เป็นไปตามระเบียบรายชการแผ่นดิน ซึ่งมีการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ในข้อกล่าวหาของป.ป.ช.กลับฟังความข้างเดียว ขณะที่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ตรงกันในข้อเท็จจริง
4.นอกจากนี้การแถลงข่าวต่อป.ป.ช.ต่อสาธารณะชนที่ผ่านมา ยืนยันว่าคดีในเรื่องระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน ทำให้เราไม่ได้ยื่นยกประเด็นดังกล่าวเข้ามาต่อสู้หรือหักล้างเลย แต่ในข้อวินิจฉัยการชี้มูลกลับนำข้อเท็จจริงในเรื่องของกรณีระบายข้าวเข้ามาอยู่ในการชี้มูลความผิดกับดิฉันด้วย
5.ที่ผ่านมาดิฉันได้พยายามชี้แจงและข้อร้องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนและสอบพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ป.ป.ช.ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่อง เช่น กรณีข้าวเสื่อมสภาพ และข้าวหาย หน่วยงานที่ควบคุมดูแลสต๊อคข้าว ซึ่งมี 2 หน่วยงาน คือองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ได้ทำสัญญาต่างๆกับเจ้าของคลังสินค้า และรวมถึงบริษัทประกันภัย (เซอร์เวเยอร์) ในการรับผิดชอบความเสียหาย หากเกิดกรณีข้างสูญหาย และการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติธรรมชาติ ดังนั้นการกล่าวอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากข้าวหายและข้าวเสื่อมคุณภาพ จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อดิฉันในฐานะผู้ถูกกล่าวหา
6.ข้อตั้งข้อสังเกตว่าการกล่าวหาและการไต่สวนของป.ป.ช.ได้นำพยานหลักฐานและไต่สวนพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อดิฉัน และเลือกที่จะรับฟังพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่ ในขณะที่ดิฉันได้พยายามเสนอพยานหลักฐานต่างๆ แต่ป.ป.ช.กลับละเลยและปฏิเสธที่จะไต่สวน และรวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรม
สุดท้ายในส่วนที่มีกระแสข่าวว่าดิฉันจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะหนีคดีความต่างๆนั้น ก็ขอเรียนยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว และมีกำหนดการที่ชัดเจนก่อนที่คณะกรรมการป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดด้วยซ้ำ และมีการเตรียมล่วงหน้า ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าวันนี้ดิฉันเป็นราษฎรเต็มขั้น ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพเยี่ยงประชาชนคนไทยทั่วไป และขอยืนยันว่าไม่ทิ้งพี่น้องประชาชนคนไทย และดิฉันพร้อมที่จะกลับมาประเทศไทย