โฆษณารัฐส่อทุจริต ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะลดงบ-เพิ่มกม.คุมเนื้อหา
ทีดีอาร์ไอยก 3 ทฤษฎีขจัดคอร์รัปชั่น ‘ดีดลูกคิด-สมการ-จิตสำนึก’ ชี้โฆษณาหน่วยงานรัฐส่อทุจริต เหตุดิ้นราคากลางได้ แนะลดงบประมาณ เพิ่มกฎหมายคุมเนื้อหา ‘วิชา’ ตำหนิการศึกษาไทยไม่สอนกระบวนการคิดที่ถูกต้อง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาทางวิชาการชุด ‘8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การปฏิรูปสังคมไทย พ้นภัยคอร์รัปชัน ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งตลอด 10 ปี เกิดจากความคิดที่แตกต่างทางการเมืองเน้นสีเสื้อ ทำให้สังคมไทยปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริง เกิดการทุจริตคอร์รัปชันและกลั่นแกล้งทางการเมือง ฉะนั้นการต่อต้านจะต้องก้าวพ้นการเมืองสีเสื้อ เพราะคุณค่าทางการเมืองทั้งสองฝ่าย ไม่มีความขัดแย้งเรื่องคอร์รัปชันเลย เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
“ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีธรรมาภิบาลร้ายแรงมากขึ้น โดยมีอันดับคะแนนคอร์รัปชันปัจจุบันอันดับ 102 ของโลก ย่ำแย่กว่าโคลัมเบีย” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าไทยไม่เคยมีระดับต่อต้านคอร์รัปชันเกิน 4 คะแนน ขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันกลับมีระดับต่อต้านคอร์รัปชันสูงกว่า 4 คะแนน
ดร.สมเกียรติ ยังเปิดเผยผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอพบสาขาที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุด คือ โทรคมนาคม พลังงาน ก่อสร้าง ขนส่ง ฟิสิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร โดยมีการขออนุญาต ประมูลโครงการรัฐ ถือเป็นกระบวนการเสี่ยง ฉะนั้นวิธีการลดคอร์รัปชันที่สลับซับซ้อนทำได้ 3 ทฤษฎี คือ 1.ทฤษฎีดีดลูกคิด เพิ่มอัตราการจับกุม เพิ่มโทษทางกฎหมาย 2.ทฤษฎีสมการคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 3.ทฤษฎีจิตสำนึก รณรงค์ให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกมากขึ้น
ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุถึงวิธีการแก้ปัญหาว่า ต้องแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการให้ได้รับการเปิดเผยมากขึ้น และกฎหมายในคดีคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ พร้อมให้โอกาสสังคมตรวจสอบ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรมเปิดโอกาสภาคประชาสังคมตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนี้ไทยจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐเพื่อหาเสียงนั้น ดร.สมเกียรติ เสนอให้ลดการโฆษณาลง เพราะไม่มีราคากลางชัดเจน ส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ ในต่างประเทศไม่มีการโฆษณาที่มีใบหน้ารัฐมนตรี ดังนั้นไทยควรมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาของหน่วยงานรัฐ และให้สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเนื้อหา พร้อมนำเสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และเปิดเผยราคากลางกับประชาชน
ด้านดร.มานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย กล่าวถึงความพยายามปฏิรูปประเทศตั้งแต่ปี 2553-2556 ภายใต้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอ 94 ประเด็นหลักตีพิมพ์ออกมา แต่สุดท้ายงบประมาณและความทุ่มเทของคณะกรรมการ 3 คณะ กลับสูญเปล่าไป
“นายประมนต์ สุธีวงศ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยกล่าวกับผมถึงสาเหตุความล้มเหลวการปฏิรูปประเทศเกิดจากเราไม่ทันตั้งตัวว่าจะมีกระบวนการเหล่านี้ในไทย แต่พอจะตั้งตัวได้ เวลาก็หมดไปแล้ว” ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว และว่าประเด็นที่พูดคุยกันก็มีมาก ซึ่งต่างเห็นเรื่องของตัวเองมีความสำคัญ ไม่ยอมกัน จึงทำให้ประเด็นมีเยอะเกินกว่าที่ สนช.จะทำได้ ดังนั้นหากจะปฏิรูปประเทศใหม่ จะต้องศึกษาบทเรียน 4 ปีที่ผ่านมาว่าควรทำอย่างไร
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า การกำจัดคอร์รัปชันนั้นจะต้องเพิ่มต้นทุนให้คนโกงเห็นว่า “โกงอย่างไรก็ตามจับกุมได้ หรือกฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่สังคมจะช่วยประณาม” และช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเกิดความแข็งแกร่ง ในด้านทรัพยากรบุคคล งบประมาณ ขีดความรู้ความสามารถขณะเดียวกัน ภาคประชาชนและข้าราชการต้องเกิดการมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบหรือแสดงความคิดเห็น แต่ต้องสร้างกฎหมายคุ้มครองการกระทำของกลุ่มคนเหล่านี้ อย่าปล่อยให้ประชาชนต่อสู้ลำพัง
ขณะที่ศ.วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.กำลังดำเนินนโยบาย ‘โลกล้อมไทย’ เพราะหากไม่ใช้หลักการนี้จะกำจัดคอร์รัปชั่นไม่สำเร็จ ด้วยไทยเป็นสังคมจมปลักกับวัฒนธรรมทุจริตอยู่ในสายเลือด อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติระบุถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องเริ่มจากประชาชนมิใช่ภาครัฐ
“ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงภายใต้การยึดมั่นในความถูกต้องตามคลองธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก” กรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยเคยสร้างกระบวนการคิดที่นำไปสู่ความถูกต้องหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน .