นานาทัศนะ: แค่ชั่วคราว หรือยาวนาน สรรหาผู้บริหารท้องถิ่น
คืนวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคำสั่งฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยให้ระงับการเลือกตั้งเเละสมาชิกที่เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้สิ้นสภาพ โดยในระหว่างนี้ให้คัดเลือกสมาชิกอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมดมาจากข้าราชการ หรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ทั้งนี้ จากประกาศคำสั่งฉบับดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงข้อกังวลอันขัดกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงรวบรวมข้อคิดเห็นมานำเสนอ
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ พรรคประชาธิปัตย์
"คสช.ให้ระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และ ผู้บริหารท้องถิ่นออกไป และให้มีการคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทน โดย 2 ใน 3 ต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับ 8
-ทำไมไม่ให้คนที่เป็นอยู่แล้วและครบวาระ เป็นต่อไป (ในลักษณะรักษาการก็ได้) โดยกำหนดอะไรที่เขาทำได้หรือทำไม่ได้? อย่างน้อยเขาก็เป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา
-อย่างน้อย อบต. / สท. ฉีดยาหมา, ลอกท่อได้, ไปช่วยงานศพได้, ขนทรายเข้าวัดได้, น้ำท่วมช่วยขนของชาวบ้านได้, เป็นอาสาสมัครจัดระเบียบรถตามงานบวช งานแต่งได้ ฯลฯ
*อยากดู ผอ.ระดับ 8 ฉีดยาหมา ลอกท่อเป็นขวัญตาซักทีก็ดีเหมือนกัน*
ผมพยายามเขียนเปรียบเทียบให้ ‘คิด’ กัน ผมคิดว่า ข้าราชการระดับ 8 ที่คณะกรรมการที่มีผู้ว่าเป็นประธานเลือกมาให้ทำหน้าที่เป็น อบต./สท. คงทำงานได้ไม่ดีเหมือนตัวแทนที่ชาวบ้านเลือกมา
ที่เปรียบเทียบว่าฉีดยาหมานั้น แสดงถึงความ ‘ใกล้ชิด’ ที่ตัวแทนที่ชาวบ้านเลือกมา เขามีต่อประชาชน ส่วน การจัดรถตามงานในชนบทนั้น อบต.เขาทำจริง ๆ แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเขา แต่ผมเปรียบเทียบให้เห็นความใกล้ชิด กับรับใช้ประชาชน"
*แต่ไม่เป็นไร ลองให้ซี 8 มาเป็นอบต.ดู อาจจะดีกว่าก็ได้*
"ผมก็เบื่อหน่ายกับการทุจริตของท้องถิ่น แต่ทำไงได้ ชาวบ้านเลือกเขาเข้าไป ประชาชนเป็นอย่างไร ตัวแทนเป็นอย่างนั้น ก็โทษกันไป-มา อย่างนี้แหละ วิธีแก้ง่ายมาก คือ ใครทุจริตก็อย่าเลือก แต่ในทางปฏิบัติผมเข้าใจครับว่ายากมาก เวลาเราพูดว่าชาวบ้านไม่เข้าใจประชาธิปไตย ก็หาว่าดูถูกชาวบ้าน ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้ ต้องอดทน เรียนรู้ไปด้วยกัน เพียงแต่หากเราให้อำนาจนี้ตกแก่ข้าราชการอีก ระบอบประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอลงไปอีก
ทัศนคติที่ไม่เชื่อมั่นต่อการตัดสินใจของประชาชน เป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย"
เสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ
การกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น เป็นแนวคิดและแนวนโยบายที่ดีที่พึงกระทำ แต่เมื่อเกิดความล้มเหลวก็ควรต้องยอมรับความเป็นจริงและหันกลับมาแก้ไข การกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่นที่ผ่านมาได้ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้บัญญัติไว้
"การที่ คสช. ได้ประกาศ โดยมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 85/2557 ล้มประดาน ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าวทั้งหมด ในช่วงเวลานี้ จึงสอดคล้องกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน"
หันกลับมา พูดความจริง และหันมาแก้ไขปัญหา เพื่อให้การกระจายอำนาจ ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง "กล้าพูดความจริงเถอะครับ จะได้แก้ปัญหาได้ถูกทาง"
ถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์
"ในภาวะปัจจุบันที่มีการรัฐประหารและมีการประกาศกฏอัยการศึก จึงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ จึงจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นแทนที่ผู้หมดวาระไป เพื่อออกข้อบัญญัติต่าง ๆ แต่คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งนี้ มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในประกาศของ คสช. ว่าให้ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง
เห็นว่า สอดคล้องกับที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปลายปี 2558 ฉะนั้นการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหลังจากจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"