แกะรอยผลสอบ“อีเมล์ฉาว”ก่อนคดีซีพีเอฟ ไฉนบทสรุปไร้"สื่อ"รับผิดชอบ
"ต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ แม้จะมีมูลค่าในรูปตัวเงินไม่มาก เช่น การได้สิทธิในการเล่นกอล์ฟโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์อื่นในลักษณะคล้ายกัน เนื่องจากอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์เหล่านี้อาจนำไปสู่การชักนำให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน"
ในขณะที่การประชุมหารือครั้งแรกของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีบิ๊กสื่อ 19 รายรับเงินซีพีเอฟ นัดแรกจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ก.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีสื่อหนังสือพิมพ์ และนักข่าวระดับบิ๊กหลายรายถูกพาดพิงว่าพัวพันผลประโยชน์นักการเมือง-พรรคการเมือง โดยสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวคึกโครมสั่นสะเทือนวงการสื่อครั้งใหญ่ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มาเทียบเคียง กรณีบิ๊กสื่อ 19 รายรับเงินซีพีเอฟ เพื่อฉายภาพให้สาธารณชนเห็นแนวทางการตรวจสอบ วิเคราะห์ และการให้ข้อมูลจากผู้ที่ถูกพาดพิง กระทั่งเดินทางไปสู่บทสรุปที่ ท้ายสุดแล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าว ต้องยอมรับในขอบเขตอำนาจที่ยังมีข้อจำกัด
ขณะเดียวกันก็ทิ้งข้อเสนอแนะถึงความสัมพันธ์ของนักข่าวกับนักการเมือง นักธุรกิจ ที่สะท้อนภาพวงการสื่อในวันนี้ได้อย่างน่าสนใจ
( อ่านประกอบ : ย้อนรอยคดี “อีเมล์ฉาว” ถึง “ซีพีเอฟ” วัดฝีมือสภาวิชาชีพสื่อ ? )
เปิดชื่อ “5 อรหันต์” สอบ อีเมล์ฉาว
คดี "อีเมล์ฉาว" มีการแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" ประกอบด้วย
1. นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
2. นางบัญญัติ ทัศนียะเวช
3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์
4. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ
5. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
โดยกำหนดประเด็นในการตรวจสอบมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. อีเมลที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร 2.หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมลหรือไม่ 3.มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมลจริงหรือไม่
สำหรับแนวทางการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงตามข่าวจำนวน 7 คนและผู้แทนของเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้มาให้ข้อมูล โดยผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน 5 คนที่มีชื่อถูกพาดพิงถึงในอีเมล์มาให้ข้อมูล
ขณะที่อีก 2 รายไม่ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ แต่มีหนังสือจากต้นสังกัดชี้แจงมาว่าทำการตรวจสอบเป็นการภายในแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเชิญผู้ดูแลเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ข่าวดังกล่าวเข้าชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน
รายงานสรุปผลการตรวจสอบฯ ในส่วนนี้ระบุด้วยว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย มาให้ข้อมูลด้วย ซึ่งนายวิม ตอบรับที่จะมาให้ข้อมูลในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิมก็ได้แจ้งยกเลิกการมาให้ข้อมูล
โดยอ้างว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มา เนื่องจากเกรงว่าผลการตรวจสอบอาจส่งกระทบในด้านลบต่อพรรคและจะขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นบางประการจากนายวิมทางโทรศัพท์ในวันดังกล่าว ดังปรากฏในเอกสารแนบที่ 7 ต่อมาเมื่อ กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คณะอนุกรรมการฯ ก็ได้ติดต่อไปอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้นายวิมมาให้ข้อเท็จจริง แต่นายวิมก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคแนะนำไม่ให้มาข้อเท็จจริง เนื่องจากได้เกิดการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยัง กกต. แล้ว
แนวทางการตรวจสอบ วิเคราะห์ข่าว-บทความผู้ถูกพาดพิง
สำหรับการตรวจสอบ และวิเคราะห์เนื้อหาข่าว รวมถึงบทความของผู้ที่ถูกพาดพิง รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ใช้ทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสื่อทำการสำรวจและวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับที่ถูกพาดพิงเป็นข่าวคือ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–3 กรกฎาคม 2554 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพ:
พบว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และ คมชัดลึก
นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของน.ส. ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก
พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง:
พบว่าข่าวสด มติชน และไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส. ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็นข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุน น.ส. ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด เช่น มีการพาดหัวข่าวดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้
โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์:
พบว่าพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ (12,12 และ 5 หน้าตามลำดับ)
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และคมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554
รายงานสรุปผลการตรวจสอบฯ มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน" อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าวตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการ “ดูแล” ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย
จากการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงบางฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า บทความของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในช่วงที่ศึกษาไม่ได้แสดงความเอนเอียงที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างแจ้งชัด
ขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้งโดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ การนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ผลสอบ ชี้ สภาการฯต้องเข้ม "จริยธรรมสื่อ"
จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับจากการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสรุปดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง อีเมลที่เป็นปัญหาน่าจะส่งมาโดยใช้บัญชี (account) และรหัสผ่าน (password) ของนายวิม และเชื่อได้ว่า นายวิม น่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมลฉบับดังกล่าวเองด้วยเหตุผลต่างๆ หลายประการ
ประการที่สอง ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบว่า ในการดำเนินการดังกล่าวได้มีการให้อามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการลงโฆษณาหรือไม่
ประการที่สาม หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้งโดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ การนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ประการสุดท้าย ด้วยข้อจำกัดของอำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐาน คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาของอีเมลดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เมื่อได้ตรวจสอบบทความที่ผู้ถูกพาดพิงแต่ละคนนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดแล้ว
คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว
แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว
ท้ายที่สุดจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรกำกับจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ให้พิจารณาดำเนินการ ในประเด็นสำคัญ คือ
-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยเคร่งครัด โดยต้องนำเสนอข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ ต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ต้องละเว้นการเสนอข่าวเพราะความลำเอียงหรือมีอคติ นอกจากนี้ การแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ ต้องให้ความเที่ยงธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิง และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็ควรกระทำโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ยอมให้อิทธิพลอื่นใดมาครอบงำความคิดเห็น
-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิกกำกับดูแลให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยเคร่งครัด โดยต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ แม้จะมีมูลค่าในรูปตัวเงินไม่มาก เช่น การได้สิทธิในการเล่นกอล์ฟโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์อื่นในลักษณะคล้ายกัน เนื่องจากอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์เหล่านี้อาจนำไปสู่การชักนำให้ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน
-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรขอความร่วมมือให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ปฏิบัติตามข้อ 10 ของข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการใช้ภาพและคำบรรยายประกอบภาพที่ได้รับมาจากภายนอก โดยให้กำกับแหล่งที่มาประกอบกับภาพข่าวนั้นอย่างแจ้งชัด นอกจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับด้านจริยธรรมดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงภาพและคำบรรยายประกอบภาพด้วยต่อไป
-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวและแหล่งข่าวที่ได้รับมาอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบได้
-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรร่วมมือกับองค์กรสื่อและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจัดทำแนวทางปฏิบัติ (guideline) ว่าผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ควรมีความใกล้ชิดกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักการเมืองและนักธุรกิจเพียงใด จึงจะมีความเหมาะสม ไม่สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดเกินสมควรกับแหล่งข่าว จนอาจกระทบต่อความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสาร และสุ่มเสี่ยงต่อการรับอามิสสินจ้างอันมีค่าหรือผลประโยชน์อื่นในภายหลัง
ท้ายที่สุดนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ความสำเร็จของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะองค์กรกำกับดูแลตนเองของสื่อหนังสือพิมพ์ในสายตาของประชาชนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความยอมรับและการให้ความร่วมมือขององค์กรสมาชิกต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเองเป็นสำคัญ องค์กรสมาชิกจึงควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการดำเนินการต่างๆ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เมื่อมีข้อสงสัยเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวของผู้ที่ถูกพาดพิง รายงานการสรุปฯ ครั้งนี้ เปิดเผยข้อจำกัดในการตรวจสอบไว้ว่า
“ด้วยข้อจำกัดของอำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐาน คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาของอีเมลดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เมื่อได้ตรวจสอบบทความที่ผู้ถูกพาดพิงแต่ละคนนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดแล้ว คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว”
...
ทั้งหมดนี้ คือผลสอบกรณีอีเมล์ฉาว ที่ผ่านมาแล้ว
น่าสนใจว่ากรณีบิ๊กสื่อรับเงินซีพีเอฟจะซ้ำรอยกับกรณีอีเมล์ฉาวหรือไม่ อาทิ การที่ผู้ถูกพาดพิงบางรายไม่เข้าชี้แจงโดยตรงต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยต้นสังกัดอ้างว่ามีการตรวจสอบเป็นการภายในแล้ว รวมถึงข้อจำกัดของคณะกรรมการฯ ในการเข้าถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ
จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการตรวจสอบ 19 รายชื่อบิ๊กสื่อรับเงินซีพีเอฟที่คณะกรรมการฯ โดยนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ซึ่งจะนัดประชุมหารือครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ จะวางแนวทางการตรวจสอบไว้อย่างไร และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการรับเงินจากเอกชนอันนำไปสู่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมถึงสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลจริยธรรมจะมีมาตรการเด็ดขาดแค่ไหน!
ภาพประกอบจาก : www.manager.co.th