- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ย้อนรอยคดี “อีเมล์ฉาว” ถึง “ซีพีเอฟ” วัดฝีมือสภาวิชาชีพสื่อ ?
ย้อนรอยคดี “อีเมล์ฉาว” ถึง “ซีพีเอฟ” วัดฝีมือสภาวิชาชีพสื่อ ?
ย้อนรอยคดี “อีเมล์ฉาว” ก่อนจะมาถึง “ซีพีเอฟ” วัดฝีมือสภาวิชาชีพสื่อ ที่(เขา)ว่าทำหน้าที่แบบ “ลูบหน้าปะจมูก” จริงหรือ ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรในกรณีมีข้อกล่าวหาสื่อมวลชน 19 รายพาเหรดรับเงินบริษัทเอกชน "ซีพีเอฟ" เพื่อปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ ตามที่ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) มานำเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ปูดข้อมูลบ.ยักษ์ใหญ่ ตั้งงบลับ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ธุรกิจ )
แต่ทุกองคาพยพในสังคมต่างจับตาไปที่องค์กรควบคุมจริยธรรมวิชาชีพสื่ออย่าง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” และ “สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” ที่จับมือกับออกแถลงการณ์ร่วม และตั้ง “6 อรหันต์-คณะกรรมการอิสระ” นำโดย “กล้านรงค์ จันทิก” อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว
(อ่านประกอบ : เปิดชื่อ 6 อรหันต์สอบปมบิ๊กสื่อรับเงินซีพีเอฟ "กล้านรงค์-สัก-สิทธิโชค"มาครบ )
อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ กรณีอย่างนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้งในสังคมไทย และองค์กรควบคุมจริยธรรมสื่อสามารถ “ลงดาบ” ใครได้บ้างหรือไม่ ?
ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ก่อนหน้าที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะพบว่า มีกรณีคล้าย ๆ กันอย่างนี้ 1 กรณี คือกรณี “อีเมล์ฉาว” จัดงานเลี้ยงให้สื่อหลายสำนัก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอย้อนเวลากลับไปทบทวนเหตุการณ์ดังกล่าวให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีการเผยแพร่อีเมล์ 2 ฉบับ (ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2554 และ 24 มิ.ย. 2554) ส่งจากอีเมล์ชื่อ “wim [email protected]” ถึงอีเมล์ของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล หรือ “เสี่ยเพ้ง” อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ระบุถึงกรณี การจ่ายเงินและจัดเลี้ยงให้กับรรณาธิการและคอลัมนิสต์หลายคนในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์แห่งละ 2 หมื่นบาท เพื่อเลี้ยงกระแสและให้ลงภาพข่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในตำแหน่งดี ๆ บนหน้า 1 ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
หลังจากนั้นไม่นานนัก นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองโฆษกและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธว่า ไม่ได้เขียนอีเมล์ดังกล่าว แต่ก็ยอมรับว่าเป็นอีเมล์ของตัวเอง แต่เป็นอีเมล์กลางที่มีหลายคนสามารถเข้ามาใช้ได้
โดยในอีเมล์ฉบับแรก มีเนื้อหาโดยสรุปว่า สถานการณ์ “ยิ่งลักษณ์” ยังอยู่ในกระแสดี จำเป็นต้องประคองกระแสให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป โดยคอยประสานงานกับสื่อเรื่องคำถามสัมภาษณ์ ประสานหัวหน้าข่าวเพื่อแจกจ่ายภาพ ประสานสำนักข่าวต่างประเทศเพื่อให้ติดตาม “ยิ่งลักษณ์” และประสานสำนักข่าวในประเทศเพื่อให้จัดบุคคลไปตอบคำถามผ่านโทรทัศน์
“โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสีต่าง ๆ ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดี โดยสัปดาห์แรกจ่ายเงินไปแล้วที่ละ 2 หมื่นบาท ส่วนผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ก็ใช้วิธีเลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้า” อีเมล์ดังกล่าว ระบุ
ขณะที่อีเมล์ฉบับที่สอง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของบริษัทเอเยนซี่ที่พรรคประชาธิปัตย์จ้างมา ด้วยการงดให้สื่อโทรทัศน์หลายช่อง หยุดส่งทีมทำข่าวตาม “ยิ่งลักษณ์” และมีหนังสือพิมพ์บางฉบับไม่รับเงินแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแล้ว เพราะหมดไปเยอะแล้ว
และที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ ข้อความที่ว่า “ผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อไทย และคุณปู ชนะอย่างยิ่งใหญ่ ก็คือ “ผมอยากให้ท่านนายกฯทักษิณ ประกาศ หรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ผมจะยังไม่กลับประเทศไทย เพราะผมไม่ต้องการให้รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ต้องอยู่ในสถานการณ์ลำบากใจ ผมจะกลับประเทศไทยก็ต่อเมื่อผมเห็นสัญญาณแห่งการปรองดองเกิดขึ้น”
“และให้ท่านประกาศ หรือสัมภาษณ์ออกช่วงวันที่ 30 มิ.ย.54 เพื่อเป็นข่าวช่วงบ่ายและค่ำ ของวันที่ 30 และวันที่ 1 ก.ค.54 ให้คุณปูย้ำอีกครั้งบนเวทีปราศรัยใหญ่ รับรองทะลุ 300 แน่นอน ส่วนเรื่องสัญญาณของการปรองดอง เราจะเห็นสัญญาณนั้นเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องของเราอยู่แล้ว” อีเมล์ดังกล่าว ระบุ
ต่อมา ภายหลังที่ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนอย่างหนาหู ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยรวม จนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีมติให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน
มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นประธาน โดยผลสอบสรุปได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และอาจมีการดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทีทำข่าวของพรรคบางราย ขณะที่หนังสือพิมพ์ 2 – 3 ฉบับ มีการนำเสนอข่าวเอนเอียงในทางที่เป็นบวกต่อ “ยิ่งลักษณ์” จริง
ส่งผลให้เครือมติชน คือ หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ตบเท้ายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยระบุเหตุผลว่า เพราะถูกอิทธิพลทางการเมืองแทรกแซง จนสมาชิกต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมือง
หลังจากนั้นเหตุการณ์เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองหรือบริษัทเอกชนทุ่มเงินซื้อสื่อก็เงียบหายไปหลายปี แม้จะมีบ้างประปรายในกรณีการจัดงานเลี้ยงขอบคุณสื่อ ที่มีการจับรางวัลเป็นโทรศัพท์หรู หรือพาสื่อไปทัวร์ต่างประเทศ แต่ก็เป็นกรณีเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนมากพอ
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง "ซีพีเอฟ" ถูกเปิดโปงเรื่องใช้เงินกว้านซื้อสื่อมวลชนกว่า 19 ราย ร้อนไปถึงองค์กรวิชาชีพสื่อต้องตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนโดยพลัน
ที่น่าสนใจคือคำพูดตอนหนึ่งของ “จักร์กฤษ เพิ่มพูล” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่หล่นไว้ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า
“ถึงที่สุดแล้ว แม้ทั้ง 19 รายชื่อนี้ จะมีความเกี่ยวข้องกับเรา เป็นเพื่อนฝูง เป็นเจ้านาย เรื่องเหล่านั้น ก็ไม่ใช่อุปสรรค หรือเป็นปัญหาที่เราจะต้องปิดบังข้อมูลหรือไม่เปิดเผย คือเมื่อผลการตรวจสอบสรุปออกมาอย่างไร เราก็ต้องเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะไปมีผลกระทบอะไรกับใคร เพราะนี่คือการทำหน้าที่อย่างสำคัญที่สุด”
(อ่านประกอบ : จักร์กฤษ : เมื่อสื่อตรวจสอบสื่อ "จริยธรรม" สำคัญกว่า "เพื่อนฝูง" "เจ้านาย" )
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการสื่อ ดำเนินการ “เชือดเนื้อเฉือนหนัง” อย่างเด็ดขาด
หรือจะทำเพียงแค่ “ลูบหน้าปะจมูก” อย่างที่ผ่านมากันแน่ ?
อ่านประกอบ :
คกก.สอบปม"ซีพีเอฟ"จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย นัดประชุมครั้งแรก 18 ก.ค.นี้
TCIJ พร้อมร่วมมือ‘กล้านรงค์’สอบปมสื่อรับเงินทุนใหญ่แต่ไม่เปิดชื่อนักข่าว
"ซีพีเอฟ" ยันไม่ใช้เงินซื้อบิ๊กสือ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ทางธุรกิจบริษัท
ปธ.สภาฯนสพ.ยันเปิดชื่อบิ๊กสื่อรับเงิน"ซีพีเอฟ"แน่ หากผลสอบชี้ทำผิดจริง