เกษตรกรต้นแบบชี้ทางออกที่ไม่ใช่จำนำข้าว-บัตรเครดิตชาวนา
“กำนันปลดหนี้” ชี้จำนำข้าว-บัตรเครดิตไม่ช่วยลดแต่ก่อหนี้ใหญ่ เพราะชาวบ้านไม่มีวินัยการเงิน เสนอรัฐช่วยปัจจัยการผลิต-ทักษะอาชีพแทน “ชาวนาดีเด่น” เผยทำนาอินทรีย์ 102 ไร่ได้ข้าว 1 เกวียน ขายราคาตลาด แต่กำไรมากกว่า เพราะไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีแพง แนะรัฐหนุนจริงจัง
จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวและบัตรเครดิตชาวนา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามความเห็นเกษตรกรตัวอย่างที่มีต่อนโยบายดังกล่าว และทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินและเกษตรกรรมยั่งยืน
"กำนันเสนอ นราพล" ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ จากโครงการปลดหนี้ครัวเรือนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกรที่มีหนี้สินมากอยู่แล้ว เพราะเงินจากจำนำและบัตรเครดิตไม่ใช่เงินได้เปล่า แต่เป็นการเอาเงินล่วงหน้ามาใช้ และต้องจ่ายคืนภายหลัง ดังนั้นนอกจากไม่ช่วยลดหนี้แล้ว ยังเป็นการสร้างหนี้ใหม่ นโยบายนี้ยังไม่สอดคล้องกับชุมชนซึ่งยังไม่พร้อมหลายประการ เช่น 1.การขาดวินัยทางการเงิน หลายครั้งที่ชาวบ้านคิดว่า เงินจากรัฐเป็นเงินได้ฟรี เป็นหนี้แล้วไม่ต้องใช้ 2.ความไม่ซื่อสัตย์ อาจมีกลโกง เช่น ปัญหาที่พบจากนโยบายจำนำข้าวในอดีต มีชาวบ้านบางส่วนนำกระสอบบรรจุแกลบมาแอบอ้างเป็นข้าว ซึ่งหากกระบวนตรวจสอบไม่รัดกุมจะทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้ 3.เป็นการแทรกแซงตลาด
"ส่วนบัตรเครดิตชาวนา ยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ชาวนาเคยตัว คิดว่ามีเงินอยู่ตลอดเวลา สร้างหนี้โดยไม่รู้ตัว จะเห็นว่าทั้งสองนโยบาย ไม่ว่าจะมองทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคมก็ไม่ดีต่อชุมชนทั้งคู่"
กำนันแหนบทอง ยังกล่าวต่อว่า ทางออกที่ดีและสอดคล้องกับบริบทของชุมชนมากกว่าการจำนำข้าวและบัตรเครดิตชาวนาว่า รัฐบาลควรจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ค่าแรง และค่าขนส่งต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรกรรม หรืออาชีพเสริมอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานรัฐลงมาทำอยู่บ้าง แต่ไม่มีคความต่อเนื่องจริงจัง
ด้าน นายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2538 สาขาอาชีพทำนา จาก ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี เปิดเผยว่าแม้ว่านโยบายจำนำข้าว จะทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อชาวนา แต่ชาวนารายย่อยที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน อาจรอรอบการรับจำนำไม่ไหว และไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว ต้องยอมขายให้พ่อค้าคนกลางในราคาที่ต่ำกว่าราคาจำนำ ส่วนบัตรเครดิตชาวนาจะทำให้เกษตรกรใช้เงินอย่างลืมตัวนำไปสู่หนี้มากจนไม่สามารถจ่ายได้ ดังตัวอย่างที่เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จนไม่สามารถใช้คืนจำนวนมากในปัจจุบัน
นายชัยพร กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรรายย่อยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งเงินทุนจากรัฐเสมอไป แต่ควรหันมาทำนาแบบลดต้นทุน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งมีราคาแพงนำไปสู่หนี้สิน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำนา 102 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1 เกวียน ขายได้ในราคาตลาดเท่ากับชาวนาคนอื่นๆ แต่จ่ายต้นทุนต่ำกว่ามาก จึงได้กำไรมากกว่า อย่างไรก็ตามการทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีใจรัก ลองผิดลองถูกจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลควรเป็นผู้มาแนะนำสนับสนุนอย่างจริงจังมากกว่าในปัจจุบัน
"ปัญหาเกษตรกรไทยคือขาดความรู้เรื่องการทำเกษตรยั่งยืน เพราะเคยชินกับการใช้สารเคมี หน่วยงานรัฐต้องมาให้ความรู้ ความเชื่อมั่น แต่ที่ผ่านมาแค่มาสนับสนุนแต่ไม่มีการติดตามผล จนชาวนาหลายคนถอดใจไปเสียก่อน" นายชัยพร กล่าว .