อดีตรองปลัดสธ.ยัน สังคมไทยยังไม่พร้อมควักจ่าย co-pay
นพ.ณรงค์ศักดิ์ ยันระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ถูกออกแบบให้มีการควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายได้ดี เชื่อไม่เป็นภาระถึงระดับทำให้การเงินการคลังประเทศชาติติดขัด ขณะที่สช.เล็งตั้งเวทีปรึกษาหารือ หวังแนวคิดปฏิรูประบบสุขภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง
วันที่ 16 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แถลงข่าว “สช.ชวนปฏิรูประบบสุขภาพ บนวิถีความปรองดอง” ณ ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว ชั้น 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นพ.อำพล กล่าวตอนหนึ่งถึงแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล(co-pay) ว่า ระบบไม่ได้ออกแบบมาให้ประชาชนร่วมจ่าย เพราะเป็นระบบที่กำหนดช่องทางให้ดำเนินการ ไม่ใช่การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน หากระบบหลักประกันสุขภาพมีการร่วมจ่ายเมื่อใด คนจนจะลำบากทันที
“ประเด็นจริงๆ คือการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งต้องไปแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องนำเงินใส่ไปอีกเท่าไหร่”นพ.อำพล กล่าว และว่า แพทย์อยู่ในระบบบริการ ส่วนใหญ่อยากให้ร่วมจ่ายด้วยอยากมีเงินบริหารมากๆ แต่หากไปถามแพทย์ที่อยู่ในระบบที่ดูแลคนไข้ที่ยากจน ในชนบทจะรู้การร่วมจ่ายทำให้ประชาชนที่ยากจนเดือดร้อน
เลขาธิการ สช. กล่าวถึงการปฏิรูประบบสุขภาพว่า มีประเด็นที่กว้างกว่าเรื่องการเงิน หลักประกันสุขภาพ หรือเรื่องที่กำลังเกิดวิวาทะกันอยู่ คือ แนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ปัจจุบันนี้บรรยากาศประเทศต้องการความปรองดอง และก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้นองค์กรใดมีอำนาจมากก็ต้องใช้อำนาจให้น้อยลง ประสานการทำงาน เห็นคุณค่าขององค์กรต่างๆ จับมือร่วมกันทำงาน พร้อมเดินหน้าปฏิรูปในทิศทางที่ควรจะเป็น ก้าวไปข้างหน้า ไม่ถอยหลังเข้าคลอง
“คาดว่าสิ้นเดือนกรกฎาคม สช.จะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือ โดยเชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุช สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือกัน เพื่อสร้างความเข้าใจกัน แสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนมติการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และถ้าอนาคตจะมีการร่วมจ่ายต้องมีการศึกษาวิจัย ทำระบบรองรับด้วย”
นพ.อำพล กล่าวด้วยว่า จริงๆ ไม่ควรไปห่วงภาระการเงินการคลังอนาคตข้างหน้า และควรมองปัจจุบันมีเงิน ทำอย่างไรจัดบริการให้ดีที่สุด
ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบถูกออกแบบให้มีการควบคุมดูแลค่าใช้จ่าย ทุกคนมีการขึ้นทะเบียนสถานบริการแห่งแรกที่จะไปใช้บริการ และมีระบบส่งต่อ วิธีนี้ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี
เมื่อถามถึงภาระการเงินการคลังสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นภาระในระดับที่รัฐบาลรับผิดชอบได้ แต่ไม่เป็นภาระถึงระดับทำให้การเงินการคลังประเทศชาติติดขัด
ในส่วนประเด็นการร่วมจ่าย เพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐนั้น นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังไม่ถึงเวลา เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อม แต่หากร่วมจ่ายนิดหน่อย หรือโดยสมัครใจ ก็พบว่า สามารถทำให้คนฉุกคิด หันมาดูแลตัวเองก่อนมารับบริการด้านสุขภาพ
“ ในรัฐธรรมนูญ ระบุถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพ ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการจัดให้ ไม่ได้เป็นโครงการของผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ฉะนั้น รัฐเองมีพันธสัญญาจัดบริการสุขภาพให้ประชาชน ในกรอบที่รัฐจะให้ได้” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว และว่า ในส่วนนี้ต้องเห็นใจภาครัฐเหมือนกัน โดยคนจัดบริการต้องหาวิธีคุมค่าใช้จ่าย มีเครื่องมือตรวจวัดความเหมาะสม การใช้ยา เวชภัณฑ์ รวมถึงมีกระบวนการประเมินเทคโนโลยีทางด้านการดูแลสุขภาพด้วย
ทั้งนี้นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในอนาคตหากจะถูกหยิบยกขึ้นมา โดยกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือกระทรวงการคลัง ถึงจะเกิดการพูดคุยกัน แต่ไม่ใช่เป็นการหยิบหยกมาโดยคนๆ เดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประชาชนร่วมจ่าย (co-pay) ในมุมมอง นพ.มงคล ณ สงขลา
สธ.ยันไม่มีแนวคิดล้มระบบการทำงาน สปสช. หรือให้ปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ซัด!ปลัด สธ.เสนอ คสช.บังคับปชช.ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30-50%