คนทำงานด้านเด็ก ฉะฉากข่มขืนละครหลังข่าว สังคมไทยมองสวยงาม น่าลุ้น-เชียร์
คณะทำงานด้านเด็กย้ำโทษประหารไม่ช่วยแก้ปัญหา ชี้ยิ่งกระพือความรุนแรง แนะเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมปกป้องคนถูกข่มขืน สร้างความเชื่อมั่นการปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ เชื่อหากปล่อยให้รากเหง้าของปัญหาบ่มเพาะต่อไปเรื่อยๆก็แก้ไขอะไรไม่ได้
16 กรกฎาคม 2557 คณะทำงานด้านเด็ก 21 องค์กรร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดเสวนาเรื่อง “ข่มขืน...ฆ่าซ้ำซาก ถึงเวลาออกจากวังวน” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นางสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก กล่าวถึงเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี บนรถไฟว่า ถือเป็นความผิดพลาดของผู้บริหาร และคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่มีการสอบประวัติและภูมิหลังของพนักงานอย่างรอบด้าน และผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงผู้ต้องหาเพียงคนเดียว ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ต้องรับผิดชอบด้วย แม้กระทั่งบอร์ดบริหารก็ต้องรับผิดชอบจะทำงานเชิงนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมองโดยรวมเรื่องการบริการและดูแลผู้โดยสารซึ่งเป็นการบริการขั้นต้นจะเห็นได้ว่า การรถไฟฯ ไม่เคยมีการพัฒนา จึงเป็นเหตุผลทำให้ขาดทุนมาโดยตลอด ฉะนั้นอยากแนะนำให้การรถไฟฯ ปรับปรุงเรื่องงานให้บริการที่ดี สะอาด และปลอดภัย
“ยิ่งไปกว่านั้นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุ 13 ปีทำไมต้องรอสถานีต่อไปถึงจะให้ความช่วยเหลือ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเหตุใดถึงต้องรอรับแจ้งความคนหายให้ครบ 24 ชั่วโมง ยิ่งตามหาเร็วเท่าไหร่เด็กก็จะปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น การรอให้ถึงเวลาค้นหาเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากเหมือนว่า ชีวิตเด็กไม่มีความสำคัญ”
ส่วนกระบวนการยุติธรรมนั้น นางสุธาทิพ กล่าวว่า ตำรวจต้องให้ความชอบธรรม ดำเนินการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ตั้งคำถามถึงโครงการคืนคนดีสู่สังคมของกรมราชทัณฑ์ สามารถลดคนทำผิดซ้ำได้จริงหรือ ซึ่งตรงนี้ต้องมีคนลงพื้นที่ค้นหาข้อมูลและกระบวนการดูแลคนทำผิดของกรมราชทัณฑ์ด้วย เพื่อป้องกันคนก่อเหตุที่น่าสลดเช่นนี้ซ้ำอีก
"หากปล่อยให้เกิดซ้ำจะเป็นวังวนอยู่อย่างนี้ตลอดไป สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้นายวันชัย แสงขาว เป็นเพียงผู้จุดกระแสให้คนตื่นตัวอีกครั้ง และหวังว่าการตื่นตัวของสังคมจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่ใช่เพียงกระแส แต่จะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการปรับปรุงและเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิต"
เรียกร้องชายเคารพสิทธิในร่างกายคนอื่น
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ทุก ปัญหาไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว แต่มีส่วนผสมจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การเลี้ยงดูที่หย่อนยานเกินไปในเรื่องการอบรม การให้คุณค่า การให้เวลา และอีกหลายเรื่องที่เด็กควรได้จากพื้นที่ครอบครัวแต่ครอบครัวหลงลืม ผลคือเด็กจะเติบโตแบบขาดๆ เกินๆ ซึ่งเด็กที่เติบโตลักษณะนี้เมื่อไหร่ที่เขาต้องการหรืออยากได้ ก็จะควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อโตขึ้นความสามารถในการควบคุมตนเองก็ถูกท้าทายมากขึ้นโดย เฉพาะอารมณ์ทางเพศที่มาพร้อมปัจจัยกระตุ้น อาทิ แอลกอฮอล์ ยาบ้า ก็ยิ่งทำให้จุดอ่อนของผู้ชายกลุ่มนี้ทำงานได้ง่ายขึ้น นาทีที่ผิดพลาดจึงเกิดขึ้น
"ทุก ฝ่ายต้องมาร่วมกัน ตั้งแต่รัฐที่ต้องลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อช่วยครอบครัวที่มีจุดแข็งอยู่แล้วหรือครอบครัวที่รักลูก ห่วงลูก แต่มีข้อจำกัดเรื่องความเท่าทัน ความเข้าใจ การตามใจ ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมดุลระหว่างความรักกับการแปรรูปความรักเป็น พฤติกรรม"นางทิชา กล่าว และว่า สำหรับโรงเรียนก็ต้องเพิ่มพื้นที่การเรียนวิชาชีวิตให้กับเด็กเพื่อ รับมือกับสถานการณ์ทุกรูปแบบที่ผ่านเข้ามา ไม่ใช่เอาแต่เรียนหนังสือ อ่านตำรา พากันเข้ามหาวิทยาลัย แต่ทุนชีวิตขาดพร่องเปราะบางมาก และผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เอาจริงเอาจังให้มากขึ้นทั้งนี้
กรณีการแต่งกายที่ล่อแหลมของผู้หญิงนั้น นางทิชา กล่าวว่า เป็นเหตุให้ผู้ชายควบคุมอารมณ์ทางเพศไม่ได้ ก็เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ชายเหล่านั้นไม่รู้จักการเคารพสิทธิ ฉะนั้น อยากให้มนุษย์ทุกคนเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายคนอื่น เพราะสิทธิในเนื้อตัวร่างกายคือสิทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงให้พ่อแม่หยุดความเชื่อว่า ลูกหลานเป็นสมบัติของเรา เพราะจะนำไปสู่การข่มขืนและทำร้ายเด็กในครอบครัว นอกจากนี้สังคมควรให้สิทธิทางเพศอย่างเท่าเทียมกันทั้งหญิงและชาย เพราะหากปล่อยปละละเลยเพศชายผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศจะไม่กล้าแสวงหาความเป็นธรรมทำให้อีกฝ่ายฮึกเหิม
“การ พุ่งเป้าไปที่การลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ประหารชีวิต อาจทำให้ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมที่ชัดเจนหรือใกล้ความจริง ถูกลดทอนไป เนื่องจากการข่มขืนในละครหลังข่าวบ้านเรายังมองเป็นเรื่องสวยงาม น่าลุ้น น่าเชียร์ หรือการที่สามีข่มขืนภรรยายังเป็นอยู่ในระดับพื้นที่ รวมถึงครอบครัว โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ยังไม่แสดงอาการแคร์ความเป็นมนุษย์ของกันและกันอย่างจริงจัง ดังนั้นการลงโทษที่รุนแรงจึงไม่ใช่"ทางออก"ที่เป็นคุณอย่างแท้จริงในระยะยาว เพราะ"รากแก้ว-รากเหง้า"ของความผิดพลาดที่รุนแรงทุกรูปแบบยังถูกบ่มอยู่ภายใต้แผ่นดินที่เรายืนเหยียบกันอย่างรื่นรมย์ในบางวัน อย่างขมขื่นในบางคืน”
เชื่อเรียกร้องโทษประหารเป็นเพียงอารมณ์โกรธ
ขณะที่นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า ประชาชนมีอารมณ์ร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะปฏิกิริยาการเรียกร้องให้เพิ่มโทษคดีฆ่าข่มขืนให้ เป็นประหารชีวิตนั้น มองว่า เป็นการออกมาแสดงทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คนไม่พอใจให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจึงมีการเรียกร้องให้ลงโทษอย่าง รุนแรง ด้วยความเชื่อที่ว่า หากลงโทษอย่างรุนแรงคนยิ่งเกรงกลัว แต่ในความเป็นจริงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะยิ่งทำให้ขยายความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นปฏิกิริยาที่คนเรียกร้องให้ลงโทษด้วยการประหารเป็นเพียงอารมณ์โกรธ
นางสาวนัยยา กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ต้องใช้เหตุผลและตั้งสติให้ดี เพราะทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงเรื่องเพศ ไม่ใช่ถีบตัวเองให้ห่างแล้วเรียกร้องให้คนมีอำนาจเรื่องการบริหารบ้านเมือง เป็นผู้รับผิดชอบ ต้องแก้กฎหมาย ต้องสั่งสอน แต่ไม่โยงปรากฏการณ์มาที่ตัวเอง ฉะนั้นอยากให้หันมาตั้งคำถามว่า อะไรทำให้ผู้ชายคนนี้มาข่มขืนเด็กผู้หญิง อะไรทำให้เด็กผู้หญิงต้องมาโดนกระทำแบบนี้ ถ้าตั้งใจหาคำตอบอย่างจริงจังจะพบว่าอะไรที่ทำให้ผู้ชายลุกขึ้นมากระทำ
“สำหรับ เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องเปลี่ยนให้เอื้ออำนวยกับผู้หญิงและสร้าง ความเชื่อมั่นว่า เมื่อออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองจะไม่ถูกข่มขืนซ้ำ ไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกตีตรา ตัวอย่างประเทศอังกฤษใช้ระบบภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง มีระบบปกป้องไม่ให้ผู้เสียหายถูกละเมิดซ้ำ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้มีความ ละเอียดอ่อนมีความเป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้นเช่น มีนักจิตวิทยา มีการแจ้งผ่านสายด่วน โดยที่เหยื่อไม่ต้องมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวน”
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว ด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมควรต้องอิงฝ่ายที่ถูกต้อง เพื่อค้นหาความจริง เอื้ออำนวยกับผู้ถูกกระทำไม่ใช่ฝ่ายกระทำ ซึ่งเหตุการณ์น้องอายุ13ปี เห็นชัดว่ากระบวนการยุติธรรม ความเป็นกลางไม่มี ฉะนั้น ต้องอยู่ข้างฝ่ายที่ทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพ เกิดประสิทธิภาพที่เป็นจริง
สังคมเต็มไปด้วยสื่อยั่วยุ
ส่วนนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) กล่าวถึงเรื่องการข่มขืนที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น หากมองในแง่ของสื่อมี 2 ประเด็น คือ
1.สื่อเป็นปัจจัยแวด ล้อมที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนคติ ค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะสื่อละครโทรทัศน์นำเสนอเรื่องราวที่มีพระเอกข่มขืนนางเอกต่อเนื่อง มาตลอด เป็นการสร้างค่านิยมที่ทำให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงเป็นสิ่งชอบธรรมและเห็นเรื่องการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา ที่พระเอกข่มขืนนางเอกสุดท้ายลงเอยด้วยความรัก จึงเกิดการซึมซับเป็นเรื่องที่ทำได้ สังคมยอมรับและคนจะมองว่า เป็นแค่เรื่องบันเทิงจนเป็นสิ่งที่สร้างค่านิยมและวัฒนธรรม ทัศนคติในสังคมที่ถูกฝังลึกในความคิดของคนทั้งหญิงชาย ซึ่งในความเป็นจริงการกระทำความรุนแรงทางเพศ การข่มขืนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
2.สังคมเต็มไปด้วยสื่อยั่วยุทางเพศและกระตุ้นความรุนแรง มีมากกว่าสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งกลไกกำกับดูแล เช่น กสทช.ไม่สามารถควบคุมได้ และละครที่ฉายในช่วงไพรม์ไทม์เป็นช่วงที่เด็ก เยาวชนและครอบครัวดูจำนวนมาก มีการจัดเรทติ้งไม่เหมาะสมในหลายเรื่อง เช่น การให้เรทติ้งท. ที่ดูได้ทุกวัย ทั้งที่ควรจัดให้เป็นรายการเฉพาะ น.18+ที่ควรฉายในเวลาดึกและต้องแนะนำเด็กการจัดระเบียบตรงนี้ยังขาดประสิทธิภาพทั้งช่องฟรีทีวี และช่องดาวเทียม รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตทั่วไปที่ยังเสนอเรื่องเพศและความรุนแรงโดยไม่มาตรฐานที่เหมาะสมในสังคมหากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะเป็นการตอกย้ำการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงทางเพศให้สังคมโดยไม่รู้จบ
“ถึงเวลาต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ดี สร้างสรรค์ในสังคมกสทช.ควรมีการกำกับดูแลและจัดเรทติ้งให้เหมาะสมทั้งช่องฟรีทีวีและดาวเทียมควรให้เครือข่ายทางสังคมเข้ามามีส่วนเฝ้าระวังมากขึ้นและสนับสนุนกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว”