คำต่อคำ:ผอ.เว็บไซต์ TCIJ ตอบสื่อปม ‘บ.ธุรกิจยักษ์ใหญ่’ จ่ายเงินนักข่าว
‘สุชาดา จักรพิสุทธิ์’ บิ๊กบอสเว็บไซต์ TCIJ ตอบคำถามสื่อปมเผยแพร่รายงานบริษัทยักษ์ใหญ่จ่ายเงินสื่ออาวุโส ยินดีร่วมมือ ‘กล้านรงค์’ สืบสวนข้อเท็จจริง แต่จะไม่ยอมเปิดรายชื่อนักข่าว-ต้นสังกัด ระบุรับได้หากเกิดการฟ้องร้องเอาผิด
จากกรณี ‘สุชาดา จักรพิสุทธิ์’ ผอ.ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) เผยแพร่เอกสารการลงทุนด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร โดยมีการจ่ายเงินรายเดือนแก่สื่อมวลชนอาวุโส การฝากข่าว แก้ไขข่าว หรือการอ้างชื่อนักวิชาการเพื่อความน่าเชื่อถือนั้น
สุชาดา เปิดเผยในเวทีเสวนา ‘อำนาจเหนือเกษตรกร-อำนาจเหนือสื่อ’ ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ TCIJ ร่วมมือกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมถึงจุดประสงค์การเผยแพร่รายงานดังกล่าวว่า TCIJ เป็นสื่อกลางในการนำเสนอเรื่องราวที่มีผลกระทบต่อสาธารณะและชี้ให้เห็นคุณกับโทษ เพื่ออย่างน้อยคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเตือนความจริงได้
“ดิฉันไม่อยากให้ใครบอยคอตสินค้าของบริษัทนี้ และไม่ต้องการให้เกลียดชังนักข่าว แต่ทั้งหมดมีจุดประสงค์เพียงการทำหน้าที่ในฐานะสื่อเท่านั้น ซึ่งดิฉันไม่สามารถจะนั่งดูข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้เฉย ๆ ได้ และเชื่อว่านักข่าวทุกคนก็เป็นเหมือนกัน พร้อมยืนยันได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งในเชิงเทคนิคและปรึกษาหารือกับผู้รู้แล้ว จนแน่ใจว่าเอกสารชุดดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง”
ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าวถึงความคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1.ทุน หากผู้บริโภคอ่านรายงานที่นำเสนอทุกบรรทัด จะเห็นว่าทั้งหมดเป็นผลจากการเน้นลงทุนด้านภาพลักษณ์เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าการลงทุนนี้จะนำมาซึ่งผลกำไรและความนิยมในองค์กร
ยกตัวอย่างกรณีมีการนำเสนอข่าวคนกระโดดบ่อจระเข้ฆ่าตัวตาย ถามว่าเสียภาพลักษณ์ถึงขนาดต้องจ่ายเงินปิดข่าวหรือ เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังสนับสนุนหรือปูทางให้เกิดการคอร์รัปชั่น เพราะคำว่า ‘คอร์รัปชั่น’ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือศีลธรรม
“คอร์รัปชั่นลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ยังไม่คุ้นเคยเท่ากรณีนักการเมืองจ่ายใต้โต๊ะหรือนักธุรกิจกินหัวคิว” สุชาดา อธิบาย และว่าดิฉันต้องการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่าการลงทุนเรื่องภาพลักษณ์เป็นหลักคือการคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง
2.ความสัมพันธ์ไม่ปกติกับนักข่าว ซึ่งเชื่อว่าทุกคนรับรู้ดีเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อหวังนำไปสู่ความเกรงใจ ซึ่งดิฉันเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ โดยเปรียบเทียบเป็น ‘การเซ็นเซอร์เชิงวัฒนธรรม’ โดยไม่แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติอาจมีมายาวนานแล้ว และเชื่อว่าสื่อรู้เท่าทันกลเม็ดเด็ดพรายของนักประชาสัมพันธ์องค์กรธุรกิจ
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าขณะที่สื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่ามาจากพรรคการเมืองใด แต่กลับไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกลุ่มทุน
3.ผู้บริโภคข่าวจะต้องรู้เท่าทันสื่อและธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมามักคิดว่าสิ่งที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักคือความจริง แต่บางครั้งอาจไม่ใช่ก็ได้ ดังนั้นผู้บริโภคข่าวจะต้องคิดใหม่
“การนำเสนอข่าวชิ้นนี้เพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นประเด็นปัญหา มิได้ต้องการพูดถึงนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด ไม่เจาะจงธุรกิจใด” ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าว และว่าหากถอดบทเรียนแล้วจะเห็นปัญหาเชิงระบบที่ต่างคนต่างไม่รู้เท่าทันซึ่งกันและกัน หรือรู้ก็หลับตาด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนและอำนาจแทรกแซง
สุชาดา ยังกล่าวถึงการใช้ทฤษฎี ‘ขุดหลุมดักควาย’ ภายหลังมีการเผยแพร่รายงานไปไม่ถึง 48 ชั่วโมง ด้วยการโทรศัพท์หรือส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อสอบถามถึงเอกสารฉบับเต็ม โน้มน้าวให้เปิดเผยให้หมด หรือสอบถามถึงผู้เขียน การได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของรายงานที่นำเสนอได้บ่งชี้ให้เห็นปัญหาเชิงระบบของ 2 สถาบัน คือ สื่อและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งความสำคัญเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ในห้วงเวลาปัดกวาดประเทศชาติ อีกด้านหนึ่งกลุ่มธุรกิจและสื่อก็ควรคิดใหม่เช่นกัน
“มีโทรศัพท์ถามเข้ามาเยอะมากว่า มีฉันหรือไม่ และคาดคั้นจะเอาให้ได้ ซึ่งต้องยืนยันกับทุกคนว่าแม้จะสนิทสนมส่วนตัวอย่างไรก็บอกไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้คือจรรยาบรรณของสื่อ” ผอ.เว็บไซต์ TCIJ ระบุ
สุชาดา จึงตั้งคำถามว่าคุณต้องการเพียงอยากรู้ว่ามีคุณหรือไม่ เพื่อความสบายใจแล้วกลับไปนั่งที่เก่าเท่านั้นหรือ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเก่า ดังนั้นโอกาสนี้จึงคาดหวังองค์กรสื่อกลับไปดูแลนักข่าวให้กินดีอยู่ดี เพื่อไม่ต้องสนใจกลเม็ดเด็ดพรายจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีวิธีการมากมายที่จะแก้ไขปัญหาในองค์กร มิใช่เพื่อความสบายใจอย่างเดียว
ส่วนที่ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อสื่ออาวุโสนั้น ผอ.เว็บไซต์ TCIJ บอกว่า ได้ทำหน้าที่ปกป้องสื่อด้วยกัน เพียงแต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสื่อที่มีตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป เพราะบางครั้งนักข่าวอาจไม่ได้รับเงินจริง ๆ ก็ได้ หรือบางทีอาจมีการยอกย้อนซ่อนเงื่อนในข้อมูลเหล่านี้
สำหรับรายชื่อที่เปิดเผยนั้น ตัวเองได้ยึดถือหลักการ “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” ฉะนั้นรายชื่อที่ถูกยกเว้นจึงไม่ใช่ผู้เสียหายและเป็นคนที่น่านับถือด้วยซ้ำ เพราะยืนยันจะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีบนพื้นฐานวิชาการ
เมื่อถามว่าข้อมูลที่เผยแพร่มีการสอบถามไปยังบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟหรือไม่ สุชาดา ตอบว่า เรื่องเอกสารนั้นไม่ได้เอ่ยชื่อใคร และไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนหรือนักข่าว เพียงแต่เป็นการชี้ให้เห็นปัญหาเชิงระบบที่มีมายาวนาน ซึ่งเพิ่งจะมีหลักฐานและจังหวะในการนำเสนอ ฉะนั้นเมื่อไม่ได้ตั้งใจจะเล่นงานใคร จึงไม่จำเป็นต้อง ‘จับให้มั่น คั้นให้ตาย’ นอกจากการทำหน้าที่สื่อกลางให้ความจริงทำงานของตัวเองภายใต้สิทธิการรับรู้
“ดิฉันมีความสง่างามพอที่จะรับผลจากการกระทำของตัวเอง และหากบริษัทคิดว่าได้รับความเสียหายจากการนำเสนอรายงานหรือการเสวนาครั้งนี้ จนนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สื่ออื่น ๆ นั้นก็พร้อมยอมรับ เพราะได้คิดมาดีแล้ว”
เมื่อถามต่อว่าบริษัทธุรกิจได้ติดต่อขอชี้แจงกับเว็บไซต์ TCIJ หรือไม่ สุชาดา อธิบายว่า ทันทีที่รายงานถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันอาทิตย์ ประมาณ 21.00 น. หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง มีสายโทรศัพท์เข้าขอร้องให้หยุดการเผยแพร่ทันที หลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย แต่บอกไม่ได้ว่าผู้นั้นคือใคร และเป็นตัวแทนบริษัทหรือบุคคลก็ไม่แน่ใจ เพราะแทนชื่อตัวเองในการสนทนา ทั้งนี้ ยืนยันไม่ใช่อดีตพนักงานบริษัทธุรกิจที่ถูกพาดพิง แต่เป็นพนักงานปัจจุบันหรือไม่ ตัวเองไม่ทราบ .
เมื่อถามอีกว่าจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายกล้านรงค์ จักทิก เป็นประธานหรือไม่ ผอ.เว็บไซต์ TCIJ ระบุว่ายินดีให้ความร่วมมือเท่าที่ทำได้ แต่จะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อทั้งหมดเพื่อปกปิดแหล่งข่าว ทั้งนี้ จะไว้วางใจได้อย่างไรว่าการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ใช่ ‘การขุดหลุมดักควาย’ เพราะปัจจุบันนี้องค์กรวิชาชีพสื่อยังไม่เคยพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นที่พึ่งของคนในวิชาชีพได้แท้จริงด้วยกฎกติกามาตรฐานและเป็นธรรม
สุชาดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วตัวเองยังมีข้อมูลประเด็นอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะกรณีนักวิชาการ แต่คิดว่าคงไม่ทำแล้ว ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้บริษัทเกิดความคิดเรื่องการจัดการภาพลักษณ์และกิจกรรมเพื่อสังคมจริง ๆ ได้ ฉะนั้นต่อให้นำเสนออีกคงไม่เป็นผล
"สิ่งที่คาดหวังมากกว่านี้อยากให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจเอกชน และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบองค์กรสื่อมวลชนด้วย" ผอ.เว็บไซต์ TCIJ ทิ้งท้าย .