TCIJ พร้อมร่วมมือ‘กล้านรงค์’สอบปมสื่อรับเงินทุนใหญ่แต่ไม่เปิดชื่อนักข่าว
ผอ.เว็บไซต์ TCIJ พร้อมร่วมมือ ‘กล้านรงค์’ ตรวจสอบปมสื่ออาวุโสรับเงิน บ.ธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ไม่เปิดเผยชื่อนักข่าว-ต้นสังกัด ติงองค์กรวิชาชีพไร้ความสามารถเป็นที่พึ่งคนข่าว
วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนา ‘อำนาจเหนือเกษตรกร-อำนาจเหนือสื่อ’ ณ อาคารแคปปิตอล แมนชั่น กรุงเทพฯ
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงเกษตรพันธะสัญญาส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรืออำนาจการต่อรองแตกต่างกัน บริษัทจงใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่มีการมอบเอกสารสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทมากกว่าแก่เกษตรกรเก็บไว้ อีกทั้งส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาระยะสั้น แต่การลงทุนและใช้หนี้เป็นระยะยาว จึงเกิดความไม่สมดุลและทำให้อำนาจการต่อรองของเกษตรกรลดน้อยลง
นอกจากนี้เกษตรกรคู่สัญญามักถูกกดดันหรือบังคับให้ลงทุนเพิ่มในธุรกิจ เช่น กรณีการเปลี่ยนโรงเรือนเลี้ยงไก่จากระบบเปิดเป็นปิด เพื่อหวังป้องกันโรคไข้หวัดนก หรือสร้างไบโอแก๊สสำหรับฟาร์มหมู แต่ปัญหาใหญ่ที่สุด คงอยู่ที่การแบ่งรับความเสี่ยงที่ไม่มีความสมดุล
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ จึงเสนอให้เกิดการสร้างระบบดูแลเกษตรกรคู่สัญญาที่ดี ด้วยการสร้างมาตรฐานโดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกที่สามารถถ่วงดุลอำนาจทั้งสองฝ่ายและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อพิพาท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฝ่ายเดียวเท่านั้น
ด้านนางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าวถึงกรณีเผยแพร่รายงานเอกสารบริษัทธุรกิจเกษตรครบวงจรของไทยมีความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนไม่ปกติว่า TCIJ เป็นสื่อที่มีพื้นที่นำเสนอเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ เพื่อคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
1.ทุน หากผู้บริโภคอ่านรายงานที่นำเสนอทุกบรรทัด จะเห็นว่า ทั้งหมดเป็นผลจากการเน้นลงทุนด้านภาพลักษณ์เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าการลงทุนนี้จะนำมาซึ่งผลกำไรและความนิยมในองค์กร เช่น กรณีคนกระโดดบ่อจระเข้ฆ่าตัวตาย ตั้งคำถามว่า เสียภาพลักษณ์ถึงขนาดต้องจ่ายเงินเพื่อปิดข่าวหรือ เพราะนั่นหมายถึงการสนับสนุนให้เกิดการคอร์รัปชั่น
2.ความสัมพันธ์ไม่ปกติกับนักข่าว ซึ่งเชื่อว่า ทุกคนรับรู้ดีเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อหวังนำไปสู่ความเกรงใจ โดยไม่แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่สื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล แต่กลับไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกลุ่มทุน
3.ผู้บริโภคข่าวจะต้องรู้เท่าทันสื่อและธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมามักคิดว่า สิ่งที่ปรากฏในสื่อกระแสหลักคือความจริง แต่บางครั้งอาจไม่ใช่ก็ได้ ดังนั้นผู้บริโภคข่าวจะต้องคิดใหม่
“การนำเสนอข่าวชิ้นนี้เพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นประเด็นปัญหา มิได้ต้องการพูดถึงนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด เเละไม่เจาะจงธุรกิจใด” ผอ.เว็บไซต์ TCIJ กล่าว และว่าหากถอดบทเรียนแล้วจะเห็นปัญหาเชิงระบบที่ต่างคนต่างไม่รู้เท่าทันซึ่งกันและกัน หรือรู้ก็หลับตาด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนและอำนาจแทรกแซง
เมื่อถามว่าจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายกล้านรงค์ จักทิก เป็นประธานหรือไม่ นางสุชาดา ระบุว่า ยินดีให้ความร่วมมือเท่าที่ทำได้ แต่จะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อทั้งหมดเพื่อปกปิดแหล่งข่าว ทั้งนี้ จะไว้วางใจได้อย่างไรว่าการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ใช่ ‘การขุดหลุมดักควาย’ เพราะปัจจุบันองค์กรวิชาชีพสื่อยังไม่เคยพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นที่พึ่งของคนในวิชาชีพได้แท้จริงด้วยกฎกติกามาตรฐานและเป็นธรรม พร้อมยืนยันจะไม่เปิดเผยข้อมูลในเเง่มุมนักวิชาการที่เหลืออีก .