'ประสาท มีแต้ม' ชี้ปฏิรูปพลังงาน ต้องดึงภาคปชช.ร่วมเป็นพันธมิตร
ภาคประชาชนเสนอพิมพ์เขียว 5 ประเด็น ปฏิรูปพลังงาน ต่อ คสช. “รสนา”แนะ ต้องเดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ล้มเลิกระบบสัมปทาน ย้ำท่อก๊าซในท้องทะเล ต้องคืนให้กับปชช. แขวะ ขรก.ระดับสูงไม่จริงใจเดินเรื่องคืนท่อก๊าซ เหตุส่วนใหญ่เป็นบอร์ดใหญ่โตในปตท.
วันที่ 15 ก.ค. ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอนโยบายปฏิรูปพลังงาน : โครงสร้าง กลไก และราคา” โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวว่า ประเด็นด้านพลังงานในปัจจุบันสังคมให้ความสนใจกันมาก เพราะพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องปากท้อง และเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ขณะนี้มีข้อถกเถียง 2 ฝ่ายที่สังคมไทยและผู้ติดตามเรื่องข่าวสารพลังงานต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ โดยฝ่ายแรกมองว่าแนวนโยบายพลังงานของไทยต้องรักษาผลประโยชน์ให้ผู้ใช้พลังงาน เพื่อประชาชน ผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่อีกกลุ่มมองว่า แนวนโยบายพลังงานควรเป็นเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
"ที่สำคัญคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องการปฏิรูปพลังงานเป็นหนึ่งใน 11 ประเด็นของประเทศที่ต้องดำเนินการในงานปฏิรูป เรี่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนคนในชาติจับตามอง"
นพ.พลเดช กล่าวว่า สำหรับชุดข้อเสนอเมื่อได้ประมวลสภาพปัญหาและข้อเสนอการปฏิรูประบบพลังงานของกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่มีศักยภาพต่างๆ ที่คณะทำงานวิชาการโครงการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (TD Forum) สรุปเป็นกรอบประเด็นการปฏิรูปพลังงาน มี 5 เรื่องสำคัญเพื่อเสนอต่อคสช.มีดังนี้
1. ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นกลไกดูแลทรัพยากรน้ำมันและปิโตรเลียมของชาติแทน ปตท.
2.เสนอให้ ปตท.ซึ่งได้แปรรูปไประดับหนึ่งแล้ว ต้องเข้าสู่การแข่งขันในตลาดเสรีโดยไม่มีสิทธิพิเศษในฐานะรัฐวิสาหกิจในการผูกขาดอีกต่อไป และมีข้อเสนอให้ลดการถือหุ้นของรัฐลงไปอีกให้ ต่ำกว่า 49% เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
3. ห้ามมิให้ข้าราชการ ผู้มีอำนาจหน้าที่ ไปมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเป็นกรรมการ (บอร์ดในรัฐวิสาหกิจและบริษัทด้านพลังงาน) รวมถึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีตัวแทนของภาคประชาชนและภาควิชาการเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการระดับชาติชุดต่างๆ ทั้งด้านกรรมการนโยบาย และกรรมการกำกับกิจการ การยกเลิกเงื่อนไขการขอใบอนุญาต รง.4 สำหรับกิจการพลังงานเพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้สร้างสรรค์ ผลิตและใช้พลังงานทางเลือกโดยเสรี
4. ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ไปอิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ รวมทั้งการยกเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันถูกใช้ไปในทางที่ผิดวัตถุประสงค์และสร้างปัญหาผลกระทบมาก และการยกเลิกมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 โดยเปลี่ยนมาใช้ยูโร 2 แทน เช่นเดียวกันกลุ่มประเทศ AEC และ 5. ออก พ.ร.บ.สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนตามข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูประดับชาติ และการจัดตั้งกรรมการอิสระด้านพลังงานหมุนเวียนที่แยกจากกรรมการชุดที่ดูแลด้านพลังงานฟอสซิลอีกด้วย
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายจับตานโยบายพลังงาน กล่าวถึงประเด็นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ คือการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่เสมือนกับการล้วงกระเป๋าประชาชน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปในเรื่องของกรรมสิทธิ์ การใช้พลังงาน เพราะที่ผ่านมากรรมสิทธิ์การใช้พลังงานได้ตกอยู่ในคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจเท่านั้น เมื่อกรรมสิทธิ์การใช้พลังงานตกอยู่ในมือของกลุ่มคนเฉพาะดังกล่าว จึงเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุดท้ายนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในที่สุด
“การปฏิรูปพลังงานถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำการปฏิรูปกรรมสิทธิ์การใช้พลังงาน เพราะทุกวันนี้ตกอยู่ในเฉพาะกลุ่มบุคคล ผ่านการแปรรูปปตท.สุดอื้อฉาว และจะเข้าสู้การเป็นเอกชนเข้าไปทุกที ยกตัวอย่าง ปิโตรเลียมที่เสมือนกับเลือด ขณะที่ท่อก๊าซเปรียบเสมือนกับเส้นเลือด เมื่อมีการแปรรูปเข้าสู่การเป็นเอกชนมากขึ้น แทนที่ภาครัฐจะถือหุ้นครบแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคงไว้ซึ่ง การรักษาผลประโยชน์แก่ประชาชน ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มน้อยพวกนี้ กลับรวยขึ้น ขณะที่ประชาชนไม่มีทางรอดกับราคาพลังงานที่แพงขึ้น”น.ส.รสนา กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องท่อก๊าซ ที่จัดอยู่ในความสำคัญต่อการปฏิรูปกรรมสิทธิ์การใช้พลังงาน น.ส.รสนา ยืนยันว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ว่า ให้ทางปตท.แยกออกจากท่อก๊าซออกจากกัน แต่ในทางตรงกันข้าม ในปัจจุบันกลับพบว่า ท่อก๊าซที่อยู่ในท้องทะเล กลับยังไม่คืนให้กับทางภาครัฐ แต่คืนเฉพาะท่อก๊าซที่อยู่บนพื้นดินเท่านั้น เมื่อไปสอบถามข้าราชการของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เหตุผลว่า พื้นที่บนท้องทะเลไม่ใช่พื้นที่พัสดุ จึงไม่สามารถขอคืนท่อก๊าซที่อยู่บนท้องทะเลได้ ตรงนี้เข้าใจว่า ข้าราชการระดับสูงหลายคนมักอยู่ในบอร์ดของปตท. ทั้งในบริษัทแม่ และบริษัทลูกเต็มไปหมด จึงไม่ก่อเกิดการต่อรองอะไรที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์เลย กลายเป็นเรื่องที่เศร้าใจเป็นอย่างมาก
น.ส.รสนา กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของนายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ดปตท.ได้มีการเสนอการปฏิรูปปตท.รอบ 2 นั้น เพื่อไม่ให้นักการเมืองล้วงลูกนั้น เมื่อฟังดูแล้วอาจดูดี แต่การการปฏิรูปครั้งที่ 2 นี้ บริษัทปตท.ไม่มีการถือหุ้นจากภาครัฐแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะกลับสู่วังวนเดิมไม่มีประโยชน์ ขณะที่ข้อเสนอถัดมา ที่จะทำการแยกท่อก๊าซแล้วตั้งบริษัทใหม่ ถ้าเป็นไปได้ ขอท่อก๊าชที่อยู่ในทะเล คืนให้กับภาครัฐก่อนได้หรือไม่ และต้องจับตาต่อไปว่า ในโอกาสที่ปลอดรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ จะมีการรีบถ่ายโอนบริษัทเอกชน ที่มีอยู่เดิมไปยังบริษัทที่จะตั้งใหม่หรือไม่
"สุดท้ายกรณีมีการเสนอเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีการรีบเปิดสัมปทาน เพราะในปัจจุบันเรามีการเปิดสัมปทานกันอย่างเพียงพออยู่แล้ว อีกทั้งก๊าซก็มีการนำเข้าจากประเทศพม่า ไม่รู้ว่าจะมีความรีบร้อนอะไร ในการเปิดสัมปทานกันอย่างรีบเร่ง มีอะไรที่เคลือบแฝงหรือไม่"
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า กรณีการเปิดสัมปทานพลังงานในประเทศไทย เป็นที่น่าตกใจว่า เราเหลือเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ยังคงไว้ซึ่งระบบนี้อยู่ ทั้งที่ประเทศอื่นๆเขาเปลี่ยนไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว ไม่เข้าใจว่า ประเทศไทยยังหลงยุคใช้ระบบนี้อยู่ได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะมีอะไรที่ลับลมคมในหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราควรจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กันได้แล้ว ทั้งที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่พ.ร.บ.นี้ก็ยังคงอยู่ ไม่รู้ว่าไปยึดโยงกับผลประโยชน์ของใครกันบ้าง
ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การที่จะปฏิรูปพลังงาน ยืนยันว่า การดึงเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ต้องใช้ประชาชนเป็นพันธมิตรในการปฏิรูปพลังงาน และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้องหันมาใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะแสงแดดที่มีอยู่อย่างมากมายในบ้านเรา
"อยากให้ล้มเลิกความคิดเก่าๆ จากพ่อค้าฟอสซิลที่ว่า การติดตั้งพลังงานทางเลือกนี้ ใช้งบประมาณในการติดตั้งที่แพง และแดดก็ไม่มีความมั่งคง ยืนยันว่า ราคาอุปกรณ์ที่ว่านี้ ราคาถูกลงทุกปี อีกทั้งในต่างประเทศอย่างที่เยอรมัน ทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เริ่มต้นจากคิดอย่างเป็นระบบ จากนั้นใช้ประชาชนเป็นพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมาย โดยหยิบจับกฎหมายเพื่อใช้พลังหมุนเวียนก่อน ไม่มีการจำกัด จำนวน และโควตา" ผศ.ประสาท กล่าว และว่า แต่ประเทศไทยเรายังจำกัดโควตา และราคาก็เพี้ยน สูงเกินจริง ฉะนั้นต่อจากนี้ เราจึงมีความคิดใหม่ ที่การใช้พลังงานไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับพลังงานปิโตรเลียมเสมอไป