คสช.รื้อโครงสร้างกฎหมายตร.-กำหนดเกณฑ์โยกย้ายตร.อาวุโส
คสช.ให้อำนาจนายกฯ ในพ.ร.บ.คนเข้าเมือง-พ.ร.บ.อาวุธปืน ออกกฎ ก.มหาดไทย รื้อกฎหมายตำรวจใหม่ โละก.ต.ช.-ก.ตร.ชุดเก่าทิ้ง กำหนดเกณฑ์อาวุโสในการย้ายตำรวจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2557) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ
โดยที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับการดูแลความสงบเรียบร้อยในการควบคุมอาชญากรรม การจราจร การมีและใช้อาวุธปืนเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ ในระบบการปฏิบัติงานและในการบังคับใช้กฎหมาย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมกับค่าทำการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจกรรมอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานจราจร กับออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและเจ้าหน้าที่อื่น และออกกฏกระทรวงในเรื่องต่อไปนี้ คือ
(1) จำกัดชนิดและจำนวนอาวุธปืนของกระทรวงทบวงกรมอื่น นอกจากของราชการทหารและตำรวจหรือหน่วยราชการตามมาตรา 5 วรรคสอง
(2) วางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต
(3) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมซึ่งต้องไม่เกิดอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
(4) กิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง (1) ตามมาตรา 5 วรรคสอง และตามมาตรา 55 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร่วมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงร่วมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย"
ข้อ 4 ให้บรรดา กฎกระทรวง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ออกตามพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม
หลังจากนั้นออกประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ
1.ให้ยกเลิกความตามมาตรา 17 ของพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 โดยใช้ข้อความแทนว่า ให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
(2) ให้รองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นรองประธาน
(3) ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(4) ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานโดยคำแนะนำของ ผบ.ตร. แต่งตั้งตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไปไม่เกิน 2 คน เป็นเลขานุการ
2.ให้ยกเลิกความตามมาตรา 18(3) ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยใช้ข้อความแทนว่า พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจ เพื่อดำเนินการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามที่ ผบ.ตร. เสนอ
3.ให้ยกเลิกความตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยใช้ข้อความแทนว่า ให้มี ก.ตร. ประกอบด้วย
(1) นายกฯเป็นประธาน
(2) ผบ.ตร.เป็นรองประธาน
(3) เลขาธิการ กพ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร.เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(4) ให้กรรมการ กตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกจากวุฒิสภา 2 คน
(5) ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ และรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
4.ให้ยกเลิกความตามมาตรา 53(1) ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยใช้ข้อความแทนว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามาตรา 44(1) ให้ ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรอง ผบ.ตร. แล้วเสนอ กตช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง
5.ให้ยกเลิกความตามมาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยใช้ข้อความแทนว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44(5) ลงมาให้เป็นไปตาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(1)การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44(5)และ(6) ให้ดำเนินการดังนี้ ในสำนักงาน ผบ.ตร. ให้ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อตำรวจในสำนักงานฯ เสนอ กตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง ในกองบัญชาการที่ไม่ได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร. ให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาเสนอ กตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน และให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง
(2)การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7)และ(8) ให้ดำเนินการดังนี้ ในสำนักงาน ผบ.ตร.ให้ ผบ.ตร.คัดลายชื่อตำรวจในสำนักงานฯ เสนอ กตร.เพื่อพิจาณาให้ความเห็นชอบก่อน และให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งแต่งตั้ง ในในกองบัญชาการที่ไม่ได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร. ให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาเสนอ กตร.เพื่อพิจาณาให้ความเห็นชอบก่อน และให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งแต่งตั้ง
(3)การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามาตรา 44(9) ลงมา ในสำนักงาน ผ.บ.ตร. ให้ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ส่วนในกองบัญชาการที่ไม่ได้สังกัดสำนักงาน ผบ.ตร. ให้ผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งตำรวจจากส่วนราชการหนึ่งไปอีกส่วนราชการหนึ่ง ให้หัวหน้าส่วนราชการตกลงกัน และให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประสงค์จะแต่งตั้งดำเนินการตาม (1)(2)และ(3) แล้วแต่กรณี
ข้อ 6.ให้ยกเลิกความในมาตรา 33-41 และมาตรา 55 และมาตรา 57 วรรค 2และ 3 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว
7.ให้ กตช.และกตร.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
8.ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรามาตรา 17(4) ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ กตช.ประกอบด้วย นายกฯเป็นประธาน รองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นรองประธาน ให้ปลักกระทรวงกลาโหม มหาดไทย ยุติธรรม และผอ.สำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้ ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ
9.ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามาตรา 30(4) ให้ กตร. ประกอบด้วย นายกฯเป็นประธาน ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ให้เลขาธิการ กพ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร.เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
10.การใดอยู่ในระหว่างการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับแต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ กตช.ตามข้อ 1. หรือกตร.ตามข้อ 3. แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามสมควร
และประกาศฉบับที่ 89/2557 เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
1. เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งและโยกย้ายให้จัดอันดับอาวุโส
(1) ผู้มียศสูงกว่า(ไม่รวมยศที่ได้รับแต่งตั้งกรณีพิเศษ)เป็นผู้อาวุโสสูงกว่า
(2)หากมียศเท่ากันให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานกว่าเป็นผู้อาวุโสสูงกว่า
(3)ถ้าดำรงตำแหน่งตาม (2)นานเท่ากัน ให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปนานกว่าตามลำดับ จนถึงตำแหน่งระดับรองสารวัตร เป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่า
(4) หากดำรงตำแหน่งตาม (3) เท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานกว่าเป็นผู้อาวุโสสูงกว่า (5)ถ้ามีระยะเวลาดำรงตำแหน่งตาม (4) เท่ากัน ให้ผู้มีอายุมากกว่าเป็นผู้อาวุโสสูงกว่า
ทั้งนี้สำหรับตำรวจที่ประจำหรือสำรองราชการในระดับตำแหน่งใด ให้ถือว่ายังคงดำรงตำแหน่งระดับนั้นตลอดเวลาที่ประจำหรือสำรองราชการ นอกจากนั้นระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งให้รวมถึงระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของตำรวจที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับรองจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์การนับระยะเวลา
2.การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามประกาศนี้ ไม่ให้นำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมตั้งแต่ระดับรองสารวัตรตามกฎ กตร.มาใช้บังคับ