ก.ศป.องค์กรที่ไม่ยอมเป็นไท หวังแต่พึ่งอำนาจ คสช.?
"..เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งเดือน คสช.ไม่ยอมตอบหนังสือของนายหัสวุฒิซึ่งจากการตรวจสอบไปยังฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.ได้รับการยืนยันว่า ทาง คสช.เห็นว่า ก.ศป.ยังคงอยู่แล้วและสามารถดำเนินการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมายได้ จึงไม่จำเป็นต้องตอบหนังสือของนายหัสวุฒิหรือมีประกาศเพิ่มเติมใดๆ.."
เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว (นับแต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557)ที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เนื่องจากนายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด อ้างว่า ก.ศป.ได้สิ้นสภาพไปแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกเพราะ องค์ประกอบของ ก.ศป.ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 226 ได้ถูกยกเลิกไปด้วย
อนึ่ง มาตรา 226 ระบุว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้ (1) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ (2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน รวมแล้ว 13 คน
แต่ขณะนี้ไม่มี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา และจากคณะรัฐมนตรี ทำให้เหลือ 10 คน ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 6 คน ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น 3 คน
แม้ในการประชุม ก.ศป.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ก.ศป.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ก.ศป.ยังคงอยู่และสามารถดำเนินการได้ เพราะมีการบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้ที่ของ ก.ศป.ไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
นอกจากนั้นในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาลปกครองและ ก.ศป.เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่มีการอ้างว่า ก.ศป.สิ้นสภาพและยังทำงานตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯได้ครบถ้วน
แต่นายหัสวุฒิยังยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า ก.ศป.สิ้นสภาพแล้วโดยนำเรื่องไปหารือใน ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งเมื่อวันพุธที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้นายหัสวุฒิทำหนังสือหารือไปยัง คสช.เพื่อให้ยืนยันสถานะของ ก.ศป.ว่า ยังคงอยู่หรือไม่
แต่เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งเดือน คสช.ไม่ยอมตอบหนังสือของนายหัสวุฒิซึ่งจากการตรวจสอบไปยังฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.ได้รับการยืนยันว่า ทาง คสช.เห็นว่า ก.ศป.ยังคงอยู่แล้วและสามารถดำเนินการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมายได้ จึงไม่จำเป็นต้องตอบหนังสือของนายหัสวุฒิหรือมีประกาศเพิ่มเติมใดๆ
เพราะก่อนหน้านี้ คสช.ได้ประกาศให้ศาลทั้งหลายสามารถดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่างๆต่อไปได้ซึ่งการให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีได้ องค์ประกอบของศาลต้องมีอยู่อย่างครบถ้วน รวมทั้งการบริหารบุคคลซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ศป.
อย่างไรก็ตามนายหัสวุฒิอาศัยจังหวะที่รอคำตอบจาก คสช.ไม่ยอมเรียกประชุม ก.ศป. ทำให้การดำเนินการต่างๆในด้านการบริหารบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลปกครองหยุดชะงัก รวมทั้งการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหานายหัสวุฒิว่า มีส่วนรู้เห็นกรณี“จดหมายน้อย”ของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในการฝากตำรวจให้เป็นผู้กำกับการโดยอ้างว่า เป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด
ล่าสุด มีกระแสข่าวยืนยันว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายนพดล เฮงเจริญ และนายวราวุธ ศิริยุทธิ์วัฒนา ซึ่ง ก.ศป.แต่งตั้งขึ้นได้สอบเสร็จสิ้นแล้ว ถ้าเห็นว่า ข้อกล่าวหาว่า นายหัสวุฒิมีมูล ต้องเสนอให้ ก.ศป.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบวินัย
แต่ถ้านายหัสวุฒิอ้างว่า ต้องรอคำตอบจาก คสช.ยืนยันถึงสถานะของ ก.ศป.ก่อน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายหัสวุฒิก็ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
ตุลาการในศาลปกครองจึงมองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเกมยื้อเวลาของนายหัสวุฒิเท่านั้น หรือถ้าโชคดี คสช,เห็นว่า ก.ศป.สิ้นสภาพแล้ว อาจมีการถือโอกาสโละทิ้งการสอบสวนครั้งนี้ด้วย
นอกจากเรื่องการสอบสวนนายหัสวุฒิ ยังมีเรื่องการสรรหาตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพิ่มเติมจากผู้ที่เกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้ อาทิ นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด และทดแทนตุลาการที่ลาออกไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ทำให้จำนวนตุลาการศาลปกครองสูงสุดเหลือไม่ถึง 20 คนไม่พอเพียงกับปริมาณคดีที่เพิ่มสูงขึ้นและค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญคือ จะมีตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลชั้นต้นจำนวน 7 คน อายุ 64 ปี ต้องทำการประเมินสมรรถภาพให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2557 เพื่อจะสามารถดำรงตำแหน้งต่อไปจนอายุ 70 ปีซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 31 เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ศป.
แต่เมื่อนายหัสวุฒิไม่ยอมเรียกประชุม ก.ศป.โดยให้รอคำตอบจาก คสช.ก็ไม่สามารถประเมินสมรรถภาพตุลาการได้ เมื่อมีผู้สอบถาม นายหัสวุฒิอ้างว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินสมรรถภาพตุลาการขึ้นมาด้วยตนเอง(ไม่ใช่มติ ก.ศป.) มีนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด แต่นายเกษมลาออก ทำให้ต้องแต่งตั้งนายวิชัย ชื่นชมพูนุทขึ้นมาแทน
ข้ออ้างง่ายๆของนายหัสวุฒิคือ ถ้า คสช.ยืนยันสถานะของ ก.ศป.ว่าคงอยู่แล้ว สามารถให้ ก.ศป.ลงมติยืนยันความชอบในการประเมินสมรรถภาพตุลาการ 7 คนย้อนหลังได้ ซึ่งตุลาการหลายคนเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะ การประเมินสมรรถภาพตุลาการเป็นอำนาจของ ก.ศป.โดยตรงตามกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้นการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินสมรรถภาพจึงเป็นอำนาจของ ก.ศป. ไม่ใช่อำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด
ด้วยเหตุดังกล่าว ถ้านายหัสวุฒิยังคงดื้อดึงไม่ยอมให้มีการประชุม ก.ศป.เพื่อดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และมีผลให้ตุลาการทั้ง 7 คนผ่านการประเมินสมรรถภาพไม่ทันเวลา ไม่สามารถดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองได้จนอายุครบ 70 ปี อาจถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ เพราะเรื่องนี้มีการท้กท้วงจากตุลาการทั้งในการประชุม ก.ศป.และการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของนายหัสวุฒิว่า เป็นเช่นไร
นับเป็นเรื่องแปลกที่องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายแห่งดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เมื่อมีข่าวว่า มีการเสนอให้ คสช.ยุบเลิกองค์กรบางแห่งเพราะที่ผ่านมา การดำเนินการไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
แต่ที่ศาลปกครอง ซึ่งเต็มไปด้วยนักกฎหมายระดับสูงหลายแขนงรวมทั้งกฎหมายมหาชน ทั้งๆที่เขาปล่อยให้ดำเนินการได้โดยอิสระแล้ว กลับดิ้นรนหาบ่วงมารัดคอตัวเอง ไม่ยอมปลดปล่อยองค์กรตัวเองให้เป็นไท หวังพึ่งอำนาจ คสช.แต่เพียงถ่ายเดียว
หมายเหตุ- พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับประเมินสมรรถภาพตุลาการ
มาตรา 21 ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
3 ) สิ้นปีงบประมาณที่ตุลาการศาลปกครองผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ เว้นแต่จะผ่านการประเมินสมรรถภาพให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามมาตรา ๓๑
มาตรา 31 ให้ ก.ศป. จัดให้มีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองที่จะมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณถัดไป
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ศป. กำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการศาลปกครองซึ่งผ่านการประเมินสมรรถภาพตามวรรคหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนถึงวันสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์