เครือข่ายประชาชน ฟ้องศาลปกครอง ยุติมอเตอร์เวย์สายอีสาน 5 แสนล้าน
สภาทนายฯ จับมือเครือข่ายประชาชน ฟ้องศาลระงับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ขอนแก่น–หนองคาย โคราช–อุบลฯ 537,960 ล้านบาท ระบุไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม-ชุมชน ขัดรัฐธรรมนูญ งบไม่โปร่งใส ขณะที่กรมทางหลวงผลักดันมอเตอร์เวย์ 5 เส้นทาง 1.8 แสนล้านบาท
จากกรณีแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย(มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา(ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6)-ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 535 กิโลเมตร และและเส้นทางนครราชสีมา–อุบลราชธานี ระยะทาง 301 กิโลเมตร รวมระยะทาง 836 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 537,960 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 เม.ย.40 ล่าสุดวันที่ 9 ส.ค.54 สภาทนายความ เครือข่ายภาคประชาชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งระงับยับยั้ง(คุ้มครองชั่วคราว)และพิจารณายกเลิกเพิกถอนการดำเนินการใดๆในโครงการตามแผนแม่บทดังกล่าว โดยศาลได้รับไว้เป็นคดีในแผนกคดีสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้คำฟ้องระบุผู้ฟ้องทั้งหมด 16 คน ยื่นฟ้องต่อผู้ถูกฟ้อง 3 ราย ได้แก่ กรมทางหลวง(อธิบดีกรมทางหลวง) กระทรวงคมนาคม(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) และคณะรัฐมนตรีผู้เห็นชอบแผนแม่บท โดยระบุว่าผู้ถูกฟ้องได้พิจารณาโครงการดังกล่าวโดยมิได้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 อีกทั้งยังส่อความไม่โปร่งใสด้านงบประมาณ โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มูลค่าโครงการเริ่มแรก 29,000 ล้านบาท แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ล้านบาท
โดยมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะพาดผ่าน 36 หมู่บ้าน 21 ตำบล 17 อำเภอของ 3 จังหวัดคือ อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 และแหล่งหินตัดสีคิ้ว และเมืองโบราณเสมา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ขณะที่โครงการดังกล่าวจะช่วยประหยัดระยะทางกว่าเดิมเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น(เทียบกับการใช้เส้นทางที่มีอยู่คือถนนมิตรภาพ)
นายไสว จิตเพียร จากสภาทนายความ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบหนักจากโครงการดังกล่าว เพราะจะตัดผ่านที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งตัดผ่านภูเขาเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ธรรมชาติ และที่สำคัญยังไม่เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการดังกล่าว
ด้าน นายประเทือง ปรัชญาพฤทธิ์ ประธาน ป.ป.ช. ภาคประชาชน เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าในการลงทุน ใช้งบประมาณไม่สมเหตุผล ซึ่งมีตัวอย่างจากหลายโครงการของรัฐบาลชุดก่อนๆ เช่น โฮปเวลล์ สนามบินสุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีปัญหาคอรัปชั่น ไม่มีประสิทธิภาพกระทั่งถูกปล่อยทิ้งร้าง
“ความเดือดร้อนที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง เราจะไปหวังพึ่งภาครัฐไม่ได้เลย ภาคประชาชนจึงต้องมารวมพลังกันคัดค้านโครงการที่ไม่โปร่งใสนี้”
ด้าน นางชินพร ณิลังโส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต. หนองแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หากโครงการนี้ดำเนินการจริง ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงก่อความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย แต่ยังรวมถึงวิถีอาชีพ เพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม ทั้งนี้เสนอว่ามีทางเลือกที่ดีกว่าและไม่สร้างผลกระทบเหมือนโครงการมอเตอร์เวย์ เช่น เอางบประมาณไปปรับปรุงพัฒนาถนนมิตรภาพ โดยการเพิ่มช่องจราจร หรือ พัฒนาระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งการรถไฟมีพื้นที่อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเวนคืน ใช้งบประมาณน้อยกว่า และไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน
ทั้งนี้เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมทางหลวงออกมาเปิดว่า มีแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ระยะเร่งด่วน ปี 2550– 2560 จำนวน 5 เส้นทาง มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจรในรัศมี 100 กม. รอบกรุงเทพ ได้แก่ 1.บางปะอิน–สระบุรี–นครราชสีมา 199 กม. 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด 2. ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุต 89 กม. 1.4 หมื่นล้านบาท 3.บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญาจนบุรี 28 กม. ลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท 4. บางปะอิน-นครสวรค์ 180 กม. 3.2 หมื่นล้านบาท 5. นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ 134 กม.