8 เครือข่ายสุขภาพจี้คสช.สอบบอร์ดอภ.-บี้ปลัดสธ.ไขก๊อก
เครือข่าย 8 องค์กรสุขภาพจี้ คสช.ตรวจสอบบอร์ด อภ. ยันลาออกก็ปัดรับผิดชอบไม่ได้ บี้ “นพ.ณรงค์” ปลัด สธ. ให้สำนึกไขก๊อกด้วย อย่าลอยตัวหนีปัญหา
จากกรณีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือบอร์ด อภ. ได้ยื่นหนังสือลาออกพร้อมกับกรรมการ อภ. อีก 10 คน โดยให้มีผลในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เพื่อเป็นการสนองนโยบายการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานรัฐวิสาหกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ยังยืนยันว่า การลาออกครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ยังเหลือกรรมการ อภ. อีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ลาออก คือ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. (ผอ.อภ.) และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) เนื่องจากเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ประเด็นข้อกังขาของการบริหารงานของ ผอ.อภ. คนปัจจุบัน และบอร์ดชุดนี้มาอย่างตลอดต่อเนื่อง ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา อภ. ไม่สามารถดำเนินการตามพันธกิจของ อภ. ได้ โดยข้ออ้างที่ว่า โรงงานมีปัญหาคุณภาพ ต้องปรับปรุงจนทำให้ยาสำคัญหลายตัวขาดแคลนไปทั่วประเทศ เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะพันธกิจของ อภ. คือต้องผลิตและจัดหายาที่มีคุณภาพให้ประชาชน แต่กลับปล่อยให้ยาสำคัญหลายชนิดขาดสต็อก ทั้งยาเบาหวาน ความดัน ยาจิตเวช เอชไอวี และอื่น ๆ แล้วผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาทุกวันจะทำอย่างไร
“แม้บอร์ด อภ. 10 คนลาออก แต่ก็ไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในการบริหารงานได้ คสช. ควรดำเนินการเพื่อการสร้างธรรมาภิบาล และความโปร่งใส โดยการตั้งกรรมการสอบประเด็นต่าง ๆ ที่มีการร้องเรียน และให้นพ.สุวัช ผอ.อภ. พิจารณาตัวเอง เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงหลายประเด็น จะไม่แสดงความรับผิดชอบได้อย่างไร รวมไปถึงนพ.ณรงค์ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นกรรมการ และรับรู้ปัญหามาตลอด แต่ไม่ดำเนินการอย่างใด นอกจากนี้ต้องคืนความเป็นธรรมให้ นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.อภ. ที่ถูกให้ออก และถูกใส่ความอย่างไม่เป็นธรรม” น.ส.สุภัทรา กล่าว
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ อภ. ต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ยาขาดแคลน จี้ให้บอร์ดตอบคำถาม ทำไมปล่อยโรงพยาบาลแก้ปัญหายาเบาหวาน และยาความดันให้ขาดแคลน แถมไม่ยอมแจ้งล่วงหน้า ยาจิตเวชต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะมีพอใช้ เหตุใดหยุดผลิตยาเม็ดหญิงตั้งครรภ์ ส่อเจตนาให้ไปซื้อจากบริษัทเอกชนอื่นหรือไม่ ขาดส่งยาต้านไวรัสเอดส์ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3 เดือน กระทบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจะทำอย่างไร โรงงานผลิตวัคซีนที่รังสิตล่าช้ากว่าปี ทำไมไม่ขึ้นบัญชีทิ้งงาน แถมยังจะจ้างกลับเข้ามาใหม่อีก
ส่วน ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ปัญหาการตัดจ่ายยาของ อภ. รุนแรงอย่างมากตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากการสำรวจโรงพยาบาลชุมชน 7 แห่งใน 3 จังหวัด มีการแจ้งยกเลิกจำหน่ายยาหลายใบสั่งซื้อ 80 กว่ารายการ หากสำรวจทั่วประเทศมั่นใจว่าจะพบปัญหามากกว่านี้
“ยกตัวอย่าง ยาไตเฟอดีน ซึ่งเป็นนโยบายของ สธ. ให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนและวิตามิน ก่อนหน้านี้ อภ. ขายให้เม็ดละ 83 สตางค์ แต่แจ้งขาดสต็อกอีก 1 เดือนถัดมาหลายครั้ง จนแจ้งยกเลิกการผลิตในที่สุด ทั้งที่ในตลาดมีผู้ผลิตอีกรายเดียว ในราคาที่แพงกว่ามากคือเม็ดละ 1.78 บาท ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณมากขึ้นในการดูแลประชาชน ทั้งที่เป็นนโยบายของ สธ. เอง ขณะที่ปลัด สธ. อยู่ในบอร์ด เหตุใดจึงไม่เร่งรัดแก้ปัญหานี้ แต่ปล่อยให้ อภ. แจ้งยกเลิกการขายและผลิต” ภญ.ศิริพร กล่าว
ภญ.ศิริพร กล่าวด้วยว่า ฝากถึง คสช. และซุปเปอร์บอร์ดว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้ อภ. มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งด้านยาและสุขภาพของประเทศ และต้องประกาศว่าต่อแต่นี้จะสนับสนุนให้ อภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร ตัวชี้วัดจะไม่ใช่กำไร แต่ต้องเป็นการทำหน้าที่อันเป็นพันธกิจเพื่อสังคม เป็นกำลังสำคัญสร้างความมั่นคงในระบบยาของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนายาใหม่ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม
ส่วนกรณีปัญหาที่ สธ. มีหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผอ.โรงพยาบาลทุกแห่ง งดทำข้อตกลงและทบทวนการเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภทกับ สปสช. ในพื้นที่ จนกว่าจะมีข้อตกลงการบริหารงบประมาณที่ชัดเจนระหว่าง สธ. กับ สปสช. ส่วนกลางนั้น
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า เป็นการกระทำที่เลวร้ายของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขด้านสุขภาพของประชาชน แต่กลับมีพฤติการณ์ที่จงใจฆ่าประชาชนเสียเอง ถือเป็นการจับคนทั้งประเทศเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองอำนาจในการจัดการงบประมาณ ทั้งนี้ในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่าง ๆ สับสนกับหนังสือสั่งการให้หยุดร่วมกิจกรรม หยุดส่งข้อมูลบริหารให้ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลขาดงบประมาณที่จะได้รับหรืองบประมาณส่งถึงโรงพยาบาลล่าช้า และอีกไม่ช้าจะกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย
“อย่างประเด็นที่กระทบแล้วขณะนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ และกำลังรอการพิจารณาของอนุกรรมการมาตรา 41 ซึ่งมีนพ.สสจ.เป็นเลขานุการบางแห่งต้องหยุดชะงักไปด้วย ภาคประชาชนเรียกร้องให้ คสช. ต้องแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยปลัด สธ. ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน” น.ส.สุภัทรา กล่าว
อ่านประกอบ :
บอร์ดเภสัชฯแถลงการณ์โต้ 8 เครือข่าย ยันใช้เงินกองทุนเพื่องานองค์การฯ
เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ยื่น คสช.ปลดบอร์ด- ผอ.อภ.ฐานทำยาขาด
ประมวลข้อกล่าวหา-หลักฐาน ปลด “ ปธ.-บอร์ด อภ.” ถึง คสช. (ฉบับเต็ม)