เพิ่มบทลงโทษประหารคดีข่มขืน นักกม.ชี้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
คณบดีคณะนิติฯ จุฬาฯ ชี้เพิ่มบทลงโทษประหารคดีข่มขืน แก้ปัญหาปลายเหตุ ไม่ช่วยคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ ย้ำชัดสังคมต้องทบทวน หาสาเหตุแท้จริงเกิดจากอะไร ความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ดื่มสุรา ฯลฯ
หลังจากเกิดเหตุกรณีฆ่าข่มขืนเด็กสาววัย13 ปี บนรถไฟก่อนจะโยนทิ้งนอกหน้าต่างจนเกิดกระแสรณรงค์ให้คดีข่มขืนต้องมีบทลงโทษประหารชีวิตเป็นวงกว้างในสังคมออนไลน์ แม้กระทั่งมีการประกาศรวบรวมรายชื่อจากอดีตนางสาวไทยอย่างบุ๋ม ปนัดดา วงษ์ผู้ดีสำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับบทลงโทษนี้ หรือจะเป็นการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว แต่บางทีอาจจะใช้เวลาในการดำเนินการยาวนานก็เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหากถามว่า คดีข่มขืนแล้วให้ประหารชีวิตก็ทำได้ ประหารแล้วก็จบกันไป แต่ความเจ็บปวดภายในจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายตามไปด้วย ดังนั้นบทลงโทษจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากกรณีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สังคมต้องมาช่วยกันทบทวนว่า แท้จริงแล้วสาเหตุมาจากอะไรความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ปัญหาการดื่มสุราของพนักงาน หรือแม้กระทั่งทำไมหน้าต่างรถไฟถึงเปิดได้ เพราะโดยปกติอย่างต่างประเทศถ้ารถไฟวิ่งอยู่จะไม่มีการเปิดหน้าต่างโดยเด็ดขาด
"เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่แท้จริงก็เริ่มมาแก้ ถึงตอนนี้จะมีคนออกมาบอกให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยลาออกไป ปัญหาก็ไม่จบและยิ่งไม่ได้รับการแก้ไข"
คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การเพิ่มบทลงโทษหรือแก้กฎหมายไม่ได้ช่วยควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราต้องมาหาวิธีป้องกันจากต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ตัวบทกฎหมายเรื่องการประหารมีอยู่แล้ว การบังคับใช้กฎหมายเราไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้น เพียงแต่การควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมไม่สามารถกระทำการได้ง่ายๆ ต้องดูบริบทหลายอย่างประกอบกัน
"ทุกวันนี้เราก็เห็นข่าวฆ่าตรกรรมทุกวัน ดังนั้นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด แก้ที่ปลายเหตุก็ไม่ได้ช่วยลดคดีเหล่านี้ได้ เนื่องจากบางทีเกิดจากพฤติกรรมของคน เช่น แต่งกายไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังตัว รับพนักงานเข้าทำงานโดยไม่ได้คัดเลือกให้ดี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมองและแก้ไข ไม่ใช่จะแก้กันที่กฎหมายเพียงอย่างเดียว"
ขอบคุณภาพจาก news.tlcthai.com