นิติฯ จุฬาฯ ตั้งวงถกคดีบอลโลก 2014 ชี้ประกาศกสทช. ลิดรอนสิทธิ์เอกชน
นักวิชาการชี้ประกาศกสทช.กรณีบอลโลก2014 ลิดรอนสิทธิ์เอกชน แนะต้องออกมาตรการเยียวยาในบทเฉพาะกาล ด้านอาร์เอส เผยสู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี เหตุภาครัฐออกประกาศไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่เหมาะสม
9 กรกฎาคม 2557 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา:กรณีศึกษาคดีฟุตบอลโลก 2014” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์ที่สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ซึ่งขณะที่ออกประกาศนั้นบริษัทเอกชน คือ อาร์เอสโปรโมชั่นได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 แม้กสทช.เองจะพยายามคัดค้านแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล ที่สำคัญประกาศดังกล่าวยังไปกระทบสิทธิคนที่มีสิทธิ์อยู่แล้ว
"การทำงานตามหลักของฝ่ายปกครองกฎที่ออกมาจะต้องกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด หรือรัฐเองต้องหลีกเลี่ยงการออกกฎที่ไปกระทบกับการลิดรอนสิทธิ แต่ควรออกหลักการเยียวยาเพื่อไม่ให้เขาไปฟ้องศาล"
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หากรัฐอยากได้สิทธิ์คืนก็ต้องหาหลักการเยียวยาด้วยการชดเชยเป็นเงิน หรือว่ารัฐจะซื้อกลับมา ก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน และต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ไม่ใช่ใช้วิธีการฟ้องกันอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการเยียวยาภายในนั้นต้องทำก่อนมีประกาศออกมา หากดูประกาศที่ออกมาจะเห็นว่า ไปกระทบการประกอบวิชาชีพของเอกชน ดังนั้นบทเฉพาะกาลจึงควรมีมาตรการเยียวยากำหนดไว้ด้วย
ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประกาศ กสทช.ถึงจะไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแต่ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมาบังคับใช้ย้อนหลัง เพราะไม่มีใครทำกัน นอกจากนี้กลุ่มผู้ออกประกาศไม่เคยเล่าไม่เคยเผยแพร่และชี้แจ้งให้ฟังมาก่อน เพียงแต่มาให้ข้อมูลภายหลังจากที่ขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว และตามหลักการไม่มีเหตุผลใดที่จะมาลิดรอนสิทธิ์ได้
“ตอนเข้าไปคุยกับกสทช.เราก็เห็นใจ เขาบอกเราว่า รับไม่ได้อีกแล้วกับผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงฟุตบอลยูโร เพราะถูกตำหนิจากสาธารณะ ของเคยดูฟรีแล้วดูฟรีไม่ได้ ทางเราก็ทราบดีว่า ในมุมนั้นประสบความยากลำบากในการที่จะบริหารความคาดหวัง แต่สิ่งที่เป็นต้นเหตุตามคำกล่าวอ้างของทางหน่วยงานรัฐกับไม่มีอยู่ในประกาศ และมาประกาศบังคับใช้ย้อนหลัง ดังนั้นสิ่งที่เราสู้คือสู้แค่ว่าไม่ควรจะมาบังคับใช้ย้อนหลัง”
นางพรพรรณ กล่าวถึงการฟ้องร้องด้วยว่า ไม่ใช่ทางที่อยากจะเดิน เพราะมีความเสี่ยง แต่ที่ต้องเลือกสู้เพื่อตัวเองและเพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีว่า ภาครัฐจะออกประกาศอะไรก็ตามควรมีขั้นตอนที่เหมาะสม สุดท้ายเวิล์ดคัพจะอยู่ในรายการก็คงไม่มีใครว่า อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการบังคับใช้ อย่าบังคับใช้ย้อนหลัง แต่ให้เอาไปใช้ในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และคำตัดสินของศาลปกครองก็ชี้มาที่เรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่
คำวินิจฉัยศาลปกครอง คดีพิพาทถ่ายสดบอลโลก“อาร์เอส-กสทช.”