กรมชลฯ ระบุสถานการณ์น้ำหลังนกเต็นคงที่แล้ว ไม่หวั่นน้ำเหนือรับมือได้
รองอธิบดีกรมชลฯ เผยสถานการณ์น้ำท่วมอยุธยาคลี่คลายแล้ว คอลงบางบาล-โผงเผง น้ำลดกว่า 30% หลังผันน้ำเหนือลงท่าจีนแก้ปัญหา ส่วนภาคเหนือ "ปิง-น่าน" ต้องรออีก 10 วันจะเข้าที่ คาดปริมาณน้ำทุกพื้นที่จะลดลงตามลำดับ
วันที่ 9 ส.ค. 54 กรมชลประทาน แถลงข่าวสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2554 โดย นายวีระ วงค์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลกระทบจากพายุนกเต็นทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำมากขึ้น กรมชลประทานได้ปรับเปลี่ยนแผนการระบายน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยลดระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาลงจากระดับ 18 เมตร เป็น 16 เมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเมีระดับสูงขึ้น และได้มีการผันน้ำออกไปทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออก เพื่อลดการระบายน้ำในเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาลง ลดปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือ ใน จ.นครสวรรค์อยู่ที่ระดับ 1,838 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้มีการผันน้ำไปทางทิศตะวันออก อัตรา 242 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันน้ำไปทางทิศตะวันตก ลงสู่แม่น้ำท่าจีน อัตรา 255 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวม 497 ลูกบาศก์เมตร ณ วันนี้ มีปริมาณน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา 1,255 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้สถานการณ์น้ำในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มดีขึ้น โดยระดับน้ำในคลองบางบาล และคลองโผงเผง ลดระดับลง 30 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน ยังคงไหลอย่างต่อเนื่อง โดยแม่น้ำน่านมีอัตราการไหล 980 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำปิง 698 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวไปอีก 2-3 วัน จากนั้นจะมีปริมาณที่ลดลง คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยลำดับ เนื่องจาก ผ่านจุดสูงสุดในช่วงพายุนกเต็นแล้ว
"ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ บริเวณลุ่มน้ำยม อ.ชุมแสง เพราะแม่น้ำยมจะไหลสู่แม่น้ำน่านบริเวณดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังระบายไม่คล่องตัว เนื่องจากน้ำในแม่น้ำน่านยังมีระดับสูง คาดว่าจะใช้เวลา 10 วัน ถึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะทำให้แม่น้ำยมไหลสะดวกขึ้นด้วย ส่วนแม่น้ำปิงได้ขอความร่วมมือไปยังเขื่อนภูมิพลให้ลดการระบายน้ำลงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 10 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน" นายวีระกล่าว
ทั้งนี้ ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอีก 7 วันข้างหน้าว่า ปริมาณน้ำจะลดลงตามลำดับ เพราะยังไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะในวันที่ 9 ส.ค. ช่วงน้ำลง เป็นโอกาสดีที่จะระบายน้ำออกสู่ทะเล อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา 2-3 วัน ก่อนน้ำทะเลจะกลับมาหนุนในช่วงวันที่ 14-15 ส.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ออกมาเตือนภัยน้ำเหนือไหลบ่าในเขตภาคกลางตอนล่าง 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 8-10 ส.ค. ว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายวีระชี้แจงว่า เป็นการคาดการณ์จากข้อมูลเดิมว่า จะมีระดับน้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลเข้ามา แต่ความเป็นจริง อัตราการไหลของน้ำช้าลง โดยเฉพาะในช่วงแม่น้ำยมไหลลงสู่แม่น้ำน่านตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ภาคกลางในช่วงเวลาดังกล่าวเหลือเพียง 1,800-1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น จึงไม่น่ากังวล
ที่ภาพ: http://www.212cafe.com/freewebboard/user_board/maheyong/picture/00008_4.jpg