เมื่อสื่อดัง-หมอใหญ่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายแรง?
"นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พิธีกรชื่อดังและสถานีโทรทัศน์ยอดนิยมมีพฤติกรรมละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย"
รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 เมื่อเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยหญิงชาวกัมพูชา ที่อาศัยอยู่กับสามีใน จ.สระแก้วว่า มีอาการหน้าอกโต ขณะที ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน ซึ่งขนาดหน้าอกขยายใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีน้ำหนักมาถึงข้างละ 2 กิโลกรัม ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก และไม่สามารถทำงานได้
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ทางโรงพยาบาลพระยุพราช ได้ส่งตัวผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลราชวิถี โดยแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า ขนาดของหน้าอกที่ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติ ในเบื้องต้นจะต้องส่งตัวต่อให้แพทย์เฉพาะทางและสูติแพทย์เพื่อดูอาการและประคับประคองอาการไปก่อน เนื่องจากเกรงจะกระทบเด็กในครรภ์
แพทย์ยังระบุว่าที่ขนาดหน้าอกใหญ่ ไม่ใช่เพราะเป็นเนื้องอกหรือเนื้อร้าย แต่เป็นลักษณะตัวผลิตน้ำนมขยายตัวใหญ่ผิดปกติ
ลำพังการนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวมิได้เป็นปัญหากระไร ถ้าไม่มีการนำเสนอชื่อ ภาพหน้าอกขนาดใหญ่ ใบหน้าของผู้ป่วยหญิงที่ตกเป็นข่าว ในท่าทางต่างๆ นานถึง 5-6 นาที มิหนำซ้ำยังมีนายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ของ โรงพยาบาลราชวิถี แสดงท่าตรวจอาการผู้ป่วยโดยการบีบหน้าอกที่ไม่มีอะไรปิดบังโชว์ช่างภาพทีวีอยู่นาน และมีการทำภาพเบลอพอเป็นพิธี
ความจริงแล้วมิได้ดูข่าวนี้ด้วยตัวเองโดยตรง แต่ได้รับแจ้งจากภรรยา พร้อมกับความคิดเห็นว่า การการนำเสนอข่าว ทำไมต้องถ่ายภาพหน้าอกและใบหน้าของหญิงผู้ป่วยอย่างโจ่งแจ้งเช่นนั้น เพราะเรื่องน่าอายสำหรับผู้หญิงอย่างมาก จึงได้ย้อนกลับไปดูข่าวผ่าน youtube ที่ทีมรายการ"เรื่องเล่าเช้านี้"โพสต์ไว้ และดาวน์โหลดเก็บไว้สำหรับเป็นกรณีศึกษาด้านจริยธรรมและกฎหมายของสื่อมวลชน
เมื่อได้ดูข่าวและภาพ ผู้ผ่วยหญิงชาวกัมพูชาแล้ว มีความเห็นสรุป ดังนี้
1.การนำเสนอข่าวและภาพของรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" และสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 เป็นการละเมิดศักดิศรีความเป็นมุษนย์และสิทธิของผู้ป่วยอย่างร้ายแรง
ภาพที่ปรากฏอย่างแจ้งชัดทั้งใบหน้าและหน้าอกของผู้ป่วยที่ถูกเผยแพร่เป็นเวลานานหลายนาทีแสดงให้เห็นถึงความจงใจของทางรายการและทางสถานีโทรทัศน์
แต่ที่น่าเสียใจเป็นอย่างมากคือ พิธีกรหญิงของรายการแทนที่จะออกมาปกป้องสิทธิของผู้ป่วยหญิงด้วยกัน กลับร่วมอ่านข่าวดังกล่าวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่า การนั่งอยู่หน้าจอทีวีของพิธีกรหญิงรายนี้เป็นเพียงตุ๊กตาประดับรายการ ที่คอยทำตามคำสั่งของพิธีกรชายเพียงฝ่ายเดียว มิได้รู้สึกรู้สาต่อการละเมิดคนเพศเดียวกันต่อหน้าต่อตา? จึงมิได้ทักท้วงการเผยแพร่ภาพอันอุจาดแม้แต่น้อย
ถ้าใครเถียงว่า การนำข่าวและภาพดังกล่าวมานำเสนอไม่เป็นการละเมิดศํกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้ป่วย อยากให้เรานึกภาพง่ายๆว่า ถ้าผู้ป่วยหญิงเป็น ภรรยา บุตร พี่น้อง หรือแม้แต่ตัวเราเอง จะยอมให้ใครมาถ่ายภาพทำข่าวในลักษณะเช่นนี้หรือไม่
วันรุ่งขึ้น( 3กรกฎาคม) มีการลบคลิปข่าวที่ทางรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้"เป็นผู้โพสต์ลง youtube ออก ขณะที่พิธิกรชายกล่าวขอโทษในรายการที่มีการปล่อยภาพ"ใบหน้า"ผู้ป่วยหญิงออกอากาศ และอ้างว่า ผู้ป่วยยินยอมแล้ว อย่างไรก็ตามข่าวและภาพดังกล่าวได้ถูกเว็บไซต์ต่างๆก็อบปี้นำไปเผยแแพร่กระจายไปอย่างกว้าวขวาง การลบคลิปข่าวออกจากyoutube หลังจากเวลาผ่านไป 1 วัน จึงไม่อาจช่วยอะไรได้
เป็นเรื่องน่าขำที่พิธีกรชายซึ่งทำงานมานานเกือบ 30 ปี แสดงความเก่งกล้าสามารถและความรอบรู้สารพัด ไม่รู้ว่าภาพและข่าวที่นำเสนอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายแรง มีการเสนอนำภาพและข่าวนานถึง 5- 6 นาที แล้วกลับทำมาเป็น "ขอโทษ"โดยอ้างความผิดพลาดปล่อยให้เห็นหน้าผู้ป่วยในวันรุ่งขึ้นขัดกับข้อเท็จจริงที่มีการปล่อยภาพข่าวในลักษณะละเมิดผู้ป่วยนานหลายนาที เพราะถ้าผิดพลาดจริง ควรสั่งให้นำภาพข่าวลงตั้งแต่เริ่มออกอากาศแล้ว
พฤติกรรมที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นความจงใจอย่างชัดเจน
ที่น่าขำยิ่งกว่านั้นคือ การอ้างลอยๆว่า ผู้ป่วยยินยอมแล้ว
ถ้าใครดูคลิปนี้จะเห็นว่า ผู้ป่วยเป็นต่างด้าว มีฐานะยากจน ครอบครัวหาเช้ากินค่ำ เมื่อทางโรงพยาบาลอนุเคราะห์รักษาให้ แพทย์บอกให้ทำอะไรก็คงต้องทำตาม ไม่กล้าขัดขืน เมื่อแพทย์ยินยอมให้ช่างภาพนักข่าว บุกเข้ามาถ่ายภาพทำข่าวในห้องผู้ป่วย ใครจะกล้าโวยวายเพื่อ ปกป้องสิทธิตัวเอง
คำถามคือ ถ้าผู้ป่วยและสามีมีฐานะดีหรือ มีทางเลือกอื่นในการรักษา จะยินยอมให้ใครมารุกล้ำสิทธิส่วนตัวแบบนี้หรือ?
สอง การที่โรงพยาบาลราชวิถีและนายแพทย์ใหญ่ยินยอมให้นักข่าวเข้ามาถ่ายภาพทำข่าวและยังแสดงการตรวจเต้านมโชว์เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายแรงฝ่าฝืนประกาศของแพทย์สภาที่ระบุว่า
"ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน"
ปรากฎการณ์เกิดขึ้น อาจสรุปได้ว่า การละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายแรงครั้งนี้เป็นการสมคบคิดระหว่างแพทย์ที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิผู้ป่วยโดยตรงกับสื่อมวลชนโดยหวังผลเพียงการประชาสัมพันธ์และการ "ขายข่าว" ที่ไร้จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพอย่างยิ่ง
อย่างที่บอกแล้วว่า พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของพิธีกรและสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ เมื่อ 3-4 ปีก่อน มีการนำดาราวสาวที่กล่าวหาว่า ดาราชายคนหนึ่งทำให้ตั้งครรภ์จนคลอดลูก มาสัมภาษณ์ในรายการโดยนำทารกอายุไม่กี่เดือนมาร่วมรายการด้วย การถ่ายภาพหน้าทารกอย่างใกล้ชิด โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทารกในอนาคต
การกระทำดังกล่าวนอกจากขัดต่อจริยธรรมแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเพียงแต่ มีผู้นำเรื่องไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้แล้ว เพราะเป็นคดีความผิดต่ออาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้
นอกจากนั้น มีการนำเสนอข่าวและภาพนักการเมืองหญิงช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนหรือหรือกระทำชำเราหลายครั้งหลายคราโดยเด็กและเยาวชนเหล่านั้นจะถูกจับสวมไอ้โม่งมาให้นักข่าว ช่างภาพ สัมภาษณ์และถ่ายภาพอย่างใกล้ชิดซึ่งไม่มีประเทศที่เจริญแล้วในโลกนี้เขาทำกัน แม้ไม่ถึงขั้นละเมิดกฎหมาย แต่น่าจะเป็นกระบวนการทำข่าวที่อาจมีผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อได้
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นมีทางเลือกหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง คงไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของนักการเมืองหญิงถูกจับสวมไอ้โม่งให้สื่อมวลชนรุมถ่ายภาพเช่นนี้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน นักการเมืองหญิงรายเดียวกันนี้ได้นำเยาวชนที่เป็นพยานคดีฆาตกรรม สวมผ่้าคลุมหัวมาแถลงข่าว ต่อหน้่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนายตำรวจใหญ่จังหวัดพิษณุโลก และสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้เผยแพร่ทั้งภาพและเสียงของเยาวชนที่เป็นพยาน
การกระทำดังกล่าว นอกจากทำให้พยานตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งที่ไม่มีประเทศไหนโลกเขาทำกันแล้ว ยังเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายด้วย มิพักต้องพูดถึงจริยธรรมในฐานะสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวนี้
ปรากฎการณ์ยกมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอในการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสิอพิมพ์แห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.)และแพทยสภา
ภาพประกอบ:http://xn--108-pklzkk1f.com/