สมาคมนักข่าวฯเตือนสื่อระวังเสนอข่าว-ภาพคดีน้องแก้ม
สมาคมนักข่าวฯ เตือนสื่อระมัดระวังการนำเสนอภาพกรณีเด็กถูกละเมิดทางเพศและฆาตรกรรมก่อนโยนลงจากโบกี้รถไฟ แนะสื่อทุกประเภทควรตระหนักถึงกฎหมายคุ้มครองเด็ก และจริยธรรมวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ กรณีการเผยแพร่ภาพ "น้องแก้ม" เหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศและฆาตกรรมก่อนโยนลงจากโบกี้รถไฟในพื้นที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น ขอให้สื่อทุกประเภทระมัดระวังในการเสนอภาพข่าวดังกล่าว ที่อาจก่อให้เกิดความหดหู่โศกเศร้าต่อครอบครัวและสังคม ควรให้การเคารพต่อครอบครัวผู้สูญเสีย หากเสนอภาพข่าวโดยไม่ระมัดระวัง มีความเสี่ยงละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศเกี่ยวกับตัวเด็กโดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และมาตรา 50 ห้ามมิเปิดชื่อตัว ชื่อสกุล ภาพหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวเด็กในลักษณะที่น่าจะเกิดความ เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชของเด็กหรือผู้ปกครอง โดยผู้ละเมิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ลงนามไว้เมื่อปี 2532 เพื่อมุ่งหวังคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้พ้นจากความโหดร้ายทารุณและการถูกข่มเหงรังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้าไม่ว่าในรูปแบบใด
นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อที่ 15 ระบุว่าในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส การเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และข้อ 17 ระบุว่าหนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุดจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน
นายมานพ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ จึงขอให้สื่อมวลชนทุกประเภททั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ทุกประเภทไม่ควรเผยแพร่ภาพกรณีที่เกิดความเสียหายต่อเด็กในกรณีอื่นๆ ด้วย ซึ่งสื่อทุกประเภทควรได้ตระหนักถึงข้อบังคับแห่งจริยธรรมวิชาชีพ กฎหมายคุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด