‘วิฑูรย์’ หวั่น คสช.เพิ่มสิทธิทุนผูกขาดพันธุ์พืชกระทบมั่นคงอาหาร
จับตาบทบาท คสช. ‘วิฑูรย์’ หวั่นเพิ่มสิทธิทุนผูกขาดเมล็ดพันธุ์-ลงนามอนุสัญญายูปอฟ 1991 นักวิชาการมข. ชี้มั่นคงอาหารมีเพียงพอ และต้องปลอดสารพิษด้วย
วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ที่คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ปี 2557 เรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหารในวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ’ ณ อาคารวชิรานุสรณ์ ม.เกษตรศาสตร์
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงโอกาสความมั่นคงทางอาหารภายใต้วิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันชาติตะวันตกปฏิเสธและต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งต้องจับตามองไม่ให้ คสช.สนับสนุนการเข้าร่วมในอนุสัญญายูปอฟ 1991 ให้สิทธิในการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช
สำหรับการต่อต้านการค้ามนุษย์ในไทยนั้น ผอ.มูลนิธิชีววิถี ตั้งคำถามว่า บางทีคนไทยอาจต้องสนับสนุนการกีดกันสินค้าที่มาจากการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนเห็นด้วย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหาร พร้อมกันนี้ เรียกร้องให้มีการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยผลิตเมล็ดพันธุ์เองถูกกลุ่มทุนกลั่นแกล้งและดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ทุกคนต้องมีอาหารเพียงพอในการบริโภคอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับวัฒนธรรม แม้จะมีวิกฤตก็ต้องเข้าถึงอาหารได้ จึงจะถือเป็นความมั่นคงทางอาหาร” นายวิฑูรย์ กล่าว
ด้านผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอาหารว่า ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี แต่มีทางเลือกที่ดีกว่ามากมาย โดยที่ผ่านมามีงานวิจัยพบการทำเกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับเกษตรเคมี และให้มากกว่าในฤดูแล้ง อีกทั้งดินมีความอุดมสมบูรณ์ ลดสภาวะโลกร้อน และให้กำไรมากกว่า
“องค์กรนานาชาติได้พยายามแก้ไขปัญหาและเข้มงวดการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายประเทศประสบความสำเร็จก้าวหน้าไปมาก แต่สำหรับไทยยังมีจำหน่าย 150 ชนิดในท้องตลาดอยู่” ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว และว่า ความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่แค่มีเพียงพอ แต่ต้องไม่ทำลายสุขภาพและสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีระบบสารเคมีที่เข้มแข็ง
ขณะที่ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ที่ผ่านมาภาคประชาชนเสนอการจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ป้องกันปัญหาที่ดินกระจุกตัว ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้สมทบแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาพื้นที่ต่อไป และส่วนหนึ่งจะนำมาสมทบในธนาคารที่ดินให้คนจนที่ไม่มีที่ดินได้เช่าหรือเช่าซื้อ
นอกจากนี้ให้มีการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชน และเข้าถึงกองทุนยุติธรรมช่วยต่อสู้คดีของคนจน ให้สามารถเข้าถึงเงินประกันตัว และช่วยเยียวยากรณีไม่ผิด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้กำลังอยู่ในช่วยการรณรงค์ .